ไลฟ์สไตล์

'สุกรี'ไขก๊อกดุริยางคศิลป์เซ่นสกอ.

'สุกรี'ไขก๊อกดุริยางคศิลป์เซ่นสกอ.

29 ส.ค. 2554

'สุกรี เจริญสุข' คณบดีดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ไขก๊อกพ้นตำแหน่ง เซ่นระบบการศึกษาไทย เหตุ 'สกอ.' ไม่รับรอง 2 หลักสูตร ชาวโซเซียลฯ แห่ให้กำลังใจผ่านเฟซบุ๊ก-ดุริยางค์ศิลป์ ด้าน นศ. นัดรวมตัวประท้วงหน้า สกอ. 1 ก.ย.นี้

          กระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่ง รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการศึกษาไทยด้านดนตรีเป็นอย่างมาก ขณะที่ศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล  เตรียมนัดรวมตัวประท้วงความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น

          รศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งคณบดีแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา จะมีผลในวันที่ 30 กันยายนนี้ การลาออกครั้งนี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และไม่ต้องการเอาชีวิตเด็กเป็นตัวประกัน กรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่รับรอง 2 ใน 7 หลักสูตรคือ หลักสูตรเทคโนโลยีดนตรีและธุรกิจดนตรี ซึ่งมีนักศึกษาจบไปแล้ว 3 รุ่น 332 คน

          โดย สกอ. ระบุว่า หลักสูตรไม่เข้มแข็งด้านวิชาการ ไม่มีอาจารย์สอนที่เหมาะสม จึงไม่ให้ชื่อ "ดุริยางคศาสตร์บัณฑิต" แต่ให้ "ศิลปศาสตร์บัณฑิต" ทำให้นักศึกษาที่จบรับราชการและเรียนต่อต่างประเทศศาสตร์ด้านดนตรีโดยตรงไม่ได้  

          คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวได้ยื่นไปที่ สกอ.มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน รวม 6 ปี มีการตรวจสอบเอกสารไปมาระหว่างมหาวิทยาลัย และ สกอ. ซึ่งเป็นที่น่ากังขาว่าในเมื่อมหาวิทยาลัยแยกออกมาเป็นอิสระ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถออกแบบหลักสูตรเองได้ทำไมจึงต้องรอให้ สกอ.เป็นผู้อนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอน การที่ลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้เพื่อที่จะกระตุ้นสังคมให้ช่วยหันกลับมามองในเรื่องดังกล่าว 

          “ผมไม่ทบทวนเรื่องลาออกแล้ว แต่ประเทศไทยควรทบทวนตัวเอง การศึกษาไทยก็ต้องทบทวนตัวเองด้วย เพราะทำให้การศึกษาไทยล้มเป็นระบบ ผมเจ็บปวดและรอคอยเรื่องนี้มานานแล้ว ผ่านสภามหาวิทยาลัยมหิดลอนุมัติแล้ว และเปิดสอนมาตลอด มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ลอกหลักสูตรไปยังผ่าน หลังจากนี้ แล้วผมคงอยู่บ้านปลูกต้นไม้และเล่นแซกโซโฟน”

          ด้าน ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหารุนแรงและกำลังช่วยกันแก้ไข โดยสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการคือปรับความเข้าใจให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สกอ.ได้เข้าใจตรงกัน ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือเชิญให้มาดูการเรียนการสอนแล้วกำลังรอคำตอบ มั่นใจว่าถ้าเห็นภาพจริงก่อนเข้าเรียนนักศึกษามีประสบการณ์อะไรมาแล้วจะเข้าใจและอนุมัติให้ผ่านได้ เนื่องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีมาตรฐานดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

          “ใจเย็นๆ ผมก็ทำเต็มที่ เพราะอาจารย์สุกรี เป็นบุคคลที่มีค่าที่สุดคนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ของสังคมและประเทศนี้ จะหาคนอย่างนี้ที่ดึงเรื่องดนตรีขึ้นมาถึงระดับนี้ในประเทศไทย เข้าใจว่าด้วยความเป็นภาวะผู้นำของอาจารย์สุกรี ที่จะปล่อยให้ไปไม่ได้ ผมก็ได้เขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์ส่งให้อาจารย์สุกรีว่ามหาวิทยาลัยไม่พร้อมจะเสียอาจารย์ไป ก็ยังไม่ได้อนุมัติและขอให้ใจเย็น หนังสือที่เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาดูการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการก็ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์” อธิการบดี ม.มหิดล กล่าว

          ในส่วนของบทความที่ถูกเขียนขึ้นบนโซเชี่ยลมีเดียนั้น ได้มีคนเข้ามากดถูกใจ บทความนี้กว่าร้อยว่าคน และก็มีคนที่มาแสดงความเห็นคิดเห็นนั้น ส่วนใหญ่ให้เข้ามาให้กำลังใจ อ.สุกรี เป็นจำนวนมาก อาทิ

          "เสียดายบุคลากรที่ทุ่มเทเพื่อศิลปะการดนตรีที่แท้จริงอย่างอาจารย์"

          "อ่านแล้วแล้วขนลุกค่ะ น้ำตาไหลเลยอยากให้อาจารย์อยู่ต่อ"

          "ทุกคนที่ยังอยู่ ยังมีหน้าที่ ต้องก้าวเดินต่อไป อย่างให้ความพยายามของท่านต้องศูนย์เปล่านะครับ.." 

          "นับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ เราต่างก็ได้เห็นสิ่งที่อาจารย์สู้และทำมาตลอด ตั้งแต่ไม่มีตึกเรียน จนกระทั่งมีตึกที่เพรียบพร้อมที่สุด"

          "มีพลังเงียบ และพลังจากประชาชนที่รักชาติอีกเกือบทั่วประเทศไทย สนับสนุนอาจารย์สุกรีอยู่ครับ"

          "พลังเงียบต้องไม่เงียบนะครับ ช่วยกันส่งเสียงเพื่อเป็นกำลังใจให้อาจารย์ พลังของทุกคนจะช่วยให้อาจารย์มีพลังที่จะสู้ต่อไป

          นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองของนักศึกษาของนักศึกษาท่านหนึ่ง ได้แสดงความเห็นเชิงให้กำลังใจและสนับสนุนเพื่อที่จะสู้ต่อด้วยความถูกต้อง และรู้สึกว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียบุคคลากรที่มีคุณภาพสูงสุดท่านหนึ่ง

          "ผมมองไม่ออกว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จะเป็นอย่างไรเมื่อไม่มีอาจารย์ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของสถาบันแห่งนี้"