เด็กไทย'เจ๋ง'แชมป์หุ่นยนต์นานาชาติ
2 ทีมเยาวชนไทยชิงกันเอง คว้าชัยหุ่นยนต์ เอบียู โรโบคอน ครั้งที่ 10 และ นศ.วิศวะคอมพ์เกษตรฯคว้า 5 รางวัลซอฟแวร์คอมพ์ระดับโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.54 ที่อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิด การแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ เอบียูโรโบคอน ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 , Bangkok ครั้งที่ 10
ผลการแข่งขัน ปรากฎว่า 2 ทีม เยาวชนไทย คว้าชัยหุ่นยนต์เอบียูโรโบคอน โดยทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต คว้าแชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ไปครองจากทีมตัวแทนนักศึกษาจาก 18 ประเทศ เฉือน ทีมซุ้มกอ จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร อีกหนึ่งตัวแทนประเทศไทย ไปด้วยความเร็วสูงสุด 1.03 วินาที ส่งผลให้ทีมซุ้มกอ จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของทีมจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนจีนแชมป์ปีที่แล้วพลิกล็อค แพ้ลาวตกตั้งแต่รอบแรก
ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ อาจารย์ที่ปรึกษาทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ดีใจมากที่ได้รางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นผลมาจากความทุ่มเทอย่างเต็มที่ของทีมทุกคน ที่ไม่ได้ทำเฉพาะเพื่อทีมเท่านั้น แต่ยังทำในฐานะตัวแทนประเทศไทย และยังมุ่งหวังกระตุ้นและจุดประกายให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ได้สนใจและเชื่อมั่นใจตัวเองว่า เด็กไทยก็ทำได้ เหมือนพวกเราเมื่อ 7-8 ปีก่อน ที่ได้เห็นการแข่งขันและนำมาซึ่งแรงบันดาลใจ จนมีทีมลูกเจ้าแม่คลองประปาในวันนี้ สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจเรายินดีและสนับสนุนอย่างเต็มที่
นศ.วิศวะคอมพ์เกษตรฯคว้า5รางวัลซอฟแวร์คอมพ์ระดับโลก
และข่าวดีอีกข่าวหนึ่งเมื่อเด็กไทยสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศด้วยการคว้ารางวัลในการประกวดผลงานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ระดับโลก โดยเปิดเผยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม รศ.ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการการแข่งขันซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ส่งนิสิตของมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันทักษะผลงานนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ในรายการ “World Cup of Computer Implemented Inventions ครั้งที่ 2” จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอิชู (I-shou University) เมืองเกาสง สาธารณรัฐประชาชนจีน (ไต้หวัน) โดยการแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคม ภายใต้การรับรองโดยสมาคมสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (International Federation of Inventors Association - IFIA) ซึ่งมีสมาคมนักประดิษฐ์ทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 82 ประเทศ
รศ.ดร.พันธุ์ปิติ กล่าวว่า การแข่งขันดังกล่าวจะใช้เกณฑ์การตัดสินพิจารณาเรื่องการออกแบบ และพัฒนาที่เป็นนวัตกรรม ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในทางปฏิบัติ ส่วนการประกวดในครั้งนี้ไม่มีการแบ่งประเภทกลุ่มผู้เสนอผลงาน จึงมีผลงานของบุคคลทั่วไปเข้าร่วมประกวดด้วย โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พิจารณาคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นของนิสิตจากห้องปฏิบัติการวิจัยในสังกัดภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดจำนวน 5 ผลงาน และส่งทีมงานเสนอผลงานจำนวน 10 คน
รศ.ดร.พันธุ์ปิติ กล่าวว่า จากการแข่งขันดังกล่าว นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โดยสามารถคว้ารางวัล 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 1 รางวัลพิเศษ โดยรางวัลเหรียญทองเป็นผลงาน “ระบบประมวลผลและจัดการข้อสอบปรนัยราคาประหยัด” เป็นระบบตรวจวิเคราะห์ข้อสอบปรนัยโดยใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพออกแบบมา เพื่อแก้ปัญหาการตรวจกระดาษคำตอบแบบเดิมที่อ่านจากผงคาร์บอน ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถตรวจข้อสอบและมีระบบเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อสอบ และการจัดเก็บผลสอบในรูปบาร์โค้ดสองมิติของ น.ส.ญาณภัทธ เรืองนวกิจ น.ส.ดวงรัตน์ ศิลานุภาพ นายบุญยไชย จันทร์เทียน โดยมี ผศ.ดร.ฐิติวรรณ ศรีนาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งได้รับรางวัล "เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 6" ปี 2554
ส่วนรางวัลเหรียญเงิน เป็นผลงานการพัฒนาระบบแสดงผลเชื่อมโยงเข้ากับระบบกล้องตรวจรักษาความปลอดภัย โดยสร้างแบบแสดงผลให้เห็นในรูป 3 มิติ เพื่อใช้สำหรับติดตามบุคคล และกําหนดตําแหน่งของบุคคลจากวิดีโอลงไปในแบบ 3 มิติ ของน.ส.ธัญธราธร ธะนะเลิศ นายปณัสย์ พงศ์ศักดิ์ชาติ นายเอกชัย ชาญศิริรัตนกุล โดยมี รศ.ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผลงานนี้เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายรางวัล "เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 6" ปี 2554
ร ศ.ดร.พันธุ์ปิติ กล่าวต่อว่า ส่วนรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ ผลงาน “World of Creativity 3D” เกมเอนจิ้น ซึ่งพัฒนาโดยภาษา จาวา WOC-3D มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้สนใจศึกษาการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object - Oriented Programming) สามารถเสริมสร้างทักษะการเขียนโปรแกรมด้วยความสนุกสนาน และสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบของการพัฒนาเกม ผู้ศึกษาสามารถออกแบบความสามารถ รูปแบบการเคลื่อนไหว และการตัดสินใจสำหรับตัวละครได้ เป็นของนายกีรติพงศ์ อุกะโชค นายฐนวัฒน์ รอดสมบุญ นายธนากร จิวารุ่งเรือง โดยมี ผศ.ดร.ฐิติวรรณ ศรีนาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ NECTEC National Software Contest 2552
อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการการแข่งขันซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนรางวัลเหรียญทองแดง ผลงาน “iGirls” ระบบที่ผสมผสานระหว่างโปรแกรมช่วยทำงาน (Utility) กับโปรแกรมจำลองการสนทนา (Chat) เข้าด้วยกัน มุ่งหวังจะให้เป็นผู้ช่วย เพื่อให้การใช้งานคอมพิวเตอร์สะดวกมากขึ้น iGirls จะตอบสนองผู้ใช้ได้ทั้งการคุยแก้เหงาและคำสั่งในการทำงานต่างๆ เหมือนกับเป็นเลขาฯส่วนตัว เป็นของนายจิรายุส เจียรภักดี นายรัฐนันท์ ธนประกอบ โดยมีตนเป็นที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Popular Vote จาก eXceed Camp # 8
รศ.ดร.พันธุ์ปิติ กล่าวอีกว่า รางวัลเหรียญทองแดง จากผลงาน “Student 4.0” ระบบ Student4.0 ประกอบไปด้วยแนวคิดหลัก 4 ประการ คือ 1.Full media-supported รองรับสื่อหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เสียง ไฟล์วิดีโอ หรือไฟล์เอกสารต่างๆ 2.Socialized สร้างเครือข่ายและกลุ่มเพื่อน ระบบจะสร้าง social network ภายในระบบ โดยเชื่อมโยงกับ social network ภายนอกระบบคือ twitter ผ่าน twitter API (3) Well-composed ต่อยอดง่าย ระบบมีโครงสร้างการทำงานเป็นส่วนๆ และเชื่อมต่อกันด้วย interface มาตรฐานทำให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อกับ application ต่างๆ ได้ 4.User-friendly ออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่าย และตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ของ น.ส.ปาริชาต ชัยธชวงศ์ น.ส.เพ็ญพร ฉันทกิตติ นายภควัต อมรวัฒนสวัสดิ์ นายสมภพ กุลปาลานนท์ โดยมีตนเป็นที่ปรึกษาเช่นกัน