ไลฟ์สไตล์

เกมกายภาพเล่นเพลินฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

เกมกายภาพเล่นเพลินฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

28 ส.ค. 2554

เกมกายภาพเล่นเพลิน ฟื้นฟูกล้ามเนื้อแข็งแรง ผลงานคิดค้นของนักศึกษาโดยจุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

          เกมฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เสริมสร้างบรรยากาศสนุกสนานระหว่างการทำกายภาพบำบัดของผู้สูงอายุ ผลงานคิดค้นของนักศึกษาสงขลานครินทร์ เผยสามารถวัดสัญญาณไฟฟ้าจากการกระดกปลายเท้า ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้ดีขึ้นใน 3 สัปดาห์

          จินดาภรณ์ เยาถัก นักศึกษาสาขาชีวการแพทย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยถึงผลงานการพัฒนาเกมสำหรับผู้สูงอายุ ที่เน้นการเสริมสร้างฟื้นฟูความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อขาว่า เกมดังกล่าวออกแบบให้ผู้เล่นได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในส่วนที่อ่อนแรง หลังจากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน เช่น ปลายเท้า โดยติดตั้งอุปกรณ์วัดสัญญาณไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (ไบโอฟีดแบค) ไว้ที่บริเวณขา

          เกมนี้ได้รับการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ที่ใช้เวลาเล่นช่วงสั้นๆ อีกทั้งมีรูปแบบเกมที่ไม่ยากจนเกินไป ทั้งนี้ เนื้อหาของเกมออกแบบให้สอดคล้องกับการกระดกปลายเท้า เพื่อเก็บผลไม้ตามข้อกำหนด โดยสามารถปรับเงื่อนไขเกมให้ยากและง่ายได้ตามต้องการ

          "การทำกายภาพเป็นประจำทุกวัน อาจทำให้ผู้สูงอายุเบื่อหน่าย แต่ถ้าออกกำลังไปพร้อมกับการเล่นเกม เชื่อว่าการฟื้นฟูผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น" จินดาภรณ์ กล่าว
 ต้นแบบเกมที่พัฒนาขึ้นนี้ มุ่งฟื้นฟูกล้ามเนื้อมัดเดี่ยว โดยอุปกรณ์จะวัดสัญญาณอิเล็กโตรด หรือสัญญาณไฟฟ้ากล้ามเนื้อภายใต้ผิวหนัง แล้วส่งเข้าเครื่องขยายสัญญาณในความถี่ที่เหมาะสม รวมถึงแปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิทัลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผล

          เจ้าของผลงาน กล่าวว่า การทำกายภาพด้วยการเล่นเกมในรูปแบบนี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย เพียงแต่ต้องปรับค่ามาตรฐานให้เหมาะสมในการวัด อาทิ วัดค่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และปฏิกิริยาความไวในการตอบสนอง

          "การทำกายภาพบำบัด โดยบริการกล้ามเนื้อในส่วนที่อ่อนแรงให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา เช่น การกระดกปลายเท้าขึ้น จะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าขาทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความแข็งแรงในการทรงตัวเพื่อให้สมดุล" จินดาภรณ์อธิบาย

          ในต่างประเทศมีการพัฒนาวิดีโอเกมเพื่อใช้ในทางการแพทย์แล้วแต่จุดประสงค์ เช่น วัดคลื่นหัวใจขณะเดิน ซึ่งมาแทนที่การทำกายภาพทั่วไปที่เน้นใช้เครื่องออกกำลังกาย ซึ่งมีความเสี่ยงง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม

          เจ้าของผลงาน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเกมให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู โดยออกแบบเกมให้มีระยะเวลาการเล่นที่นานขึ้นจากเดิม 3-5 นาที เป็น 20 นาที เพื่อการพัฒนารูปแบบการฟื้นฟูอย่างจริงจัง และวัดผลสำเร็จร่วมกับนักกายภาพ ของศูนย์กายภาพบำบัด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

          ผลจากการทดสอบในช่วง 3 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับก่อนการเล่นเกม ปรากฏว่าค่ากำลังเฉลี่ยของกล้ามเนื้อในเพศหญิงเพิ่มขึ้นประมาณ 50% และ 100% ในเพศชาย อีกทั้งระยะเวลาที่กล้ามเนื้อเริ่มออกแรงก็ลดน้อยลงกว่า 50% ในเพศหญิง และ 25% ในเพศชาย

          จากผลเชิงปริมาณยืนยันว่าระบบที่นำเสนอมีความสามารถในการปรับปรุง ทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความไวในการตอบสนองของกล้ามเนื้อ รวมทั้งเกมสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อของคนที่อายุมากขึ้นได้