
ปิดตา ปิดหู ฟังด้วยใจ
เพลงอนาชีดเพื่อคนพิการ บ่งบอกถึงการทำความเข้าใจและการเปิดพื้นที่ให้เหล่าคนพิการได้ออกมาใช้ชีวิตกับผู้คนในสังคมได้
ชายหนุ่มรูปร่างกำยำ ถูกปิดตาทั้งสองข้างด้วยเศษผ้าอย่างแน่นหนา พร้อมเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 10 กว่าชีวิต พยายามใช้ขาทั้งสองข้างกวาด ก่ายพื้นถนน ไม่มีสัมผัสใดของเศษปูนที่จะบอกความแตกต่างของพื้น ทำให้เขาสะดุดและหกล้มบ่อยครั้ง เพราะไม่รู้ว่า ทางเดินมีแม่ค้าจำนวนมากวางของขายนี่ เป็นเพียงหนึ่งในสถานการณ์จำลอง ที่วิทยากรจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ใช้เป็นกระบวนการหลักในการสร้างความเข้าใจในความเป็นผู้พิการทางสายตาให้แก่กลุ่มศิลปินที่ขับร้องบทเพลงอนาชีด ที่เข้าร่วมในโครงการ ”บทเพลงอนาชีดเพื่อคนพิการ”
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) และชมรมส่งเสริมและพัฒนาบทเพลงอนาชีดในชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการใช้บทเพลงอนาชีดเป็นสื่อกลาง เพื่อให้บุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจความพิการและเปิดพื้นที่และโอกาสให้คนพิการได้ออกมาใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกับคนทั่วไป
“อนาชีด” เป็นบทเพลงที่ถูกขับร้องในศาสนาอิสลาม โดยส่วนใหญ่ขับร้องเป็นภาษามลายู เพื่อเชิญชวนผู้คนให้ปฏิบัติแต่ความดี และสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงาม ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในทุกๆ พื้นที่ที่มีผู้คนนับถือศาสนาอิสลามเป็นความบันเทิงที่ไม่ผิดหลักศาสนา เพราะใช้เสียงอันไพเราะของคนขับกล่อมโดยปราศจากเครื่องดนตรี และยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนเข้าใกล้ศาสนามากยิ่งขึ้น
มาตูรีดี มะสาแม หรือ มาตู หัวหน้าโครงการบทเพลงอนาชีดเพื่อคนพิการ เล่าว่า ในศาสานาอิสลามนั้น คนพิการก็มีความเท่าเทียมกับคนปกติ การใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เข้าใจไม่ตรงกัน โครงการบทเพลงอนาชีดเพื่อคนพิการนี้ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ เผยแพร่เนื้อหาของความพิการในเชิงของศาสนา ให้สังคมทั่วไปและคนพิการเข้าใจซึ่งกันและกัน และใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
สำหรับศิลปินและนักแต่งเพลงอนาชีดที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะได้ร่วมเรียนรู้ถึงเงื่อนไขหรืออุปสรรคทั้งทางกายและทางสังคมวัฒนธรรมที่สร้างความพิการแต่ละประเภทผ่านการจำลองสถานการณ์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ เงื่อนไขข้อจำกัดทางการเห็นหรือการเคลื่อนไหวของแต่ละคน ภายใต้สภาพแวดล้อมทางกายภาพและทัศนะทางสังคมหรือการปฏิบัติต่อคนพิการอย่างที่เป็นอยู่ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนพิการในแต่ละประเภทเพื่อให้รับทราบถึงชีวิตจริงและความยากลำบากของคนพิการที่จะต้องใช้ชีวิตประจำวันผ่านสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นเนื้อหาและเรื่องราวในบทเพลงอนาชีดในภาคภาษาไทย
อับดุลเล๊าะ สนิโช หรือ ฟาน นักร้องนำอนาชีดวงฟาร์ฮาน (Farhan) สะท้อนว่า ได้ทราบความรู้สึกของคนพิการว่า การใช้ชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยนั้น มันยากลำบากแค่ไหน เนื้อหาที่แต่งขึ้นจึงเป็นเรื่องราวในการให้กำลังใจแก่คนพิการให้สู้ อดทน และพยายาม
ขณะที่ จิตต์ปภัสสร์ บัตรประโคน ผู้ช่วยบริหารยุทธศาสตร์ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวว่า กระบวนการที่จัดทำขึ้นคือการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนพิการ และคนไม่พิการจะช่วยเปิดมุมมองและเปลี่ยนผ่านวิธีคิดต่อความพิการและคนพิการในสังคมไทยให้กว้างขึ้น
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) เสริมว่า หวังว่าสังคมไทยจะมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจ “ความพิการ” และ “คนพิการ” บนความรู้สึกใหม่ๆ คือเป็นความรู้สึกเบิกบาน มีพลัง และเปิดกว้างทางปัญญา ให้เห็นแง่คิดและการสร้างสรรค์ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลได้มากขึ้น
ฟานและวงฟาร์ฮาน ได้ผลผลิตเป็นบทเพลงอนาชีดอันสวยงามและไพเราะ จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ภายใต้ชื่อเพลงว่า “เธอผู้ให้ใจ” เนื้อหาของบทเพลงอนาชีดเพลงนี้ เป็นการบอกเล่าความรู้สึกของฟานที่ได้เรียนรู้เรื่องราวของคนพิการ ผ่านการใช้ชีวิตแบบคนพิการ ผ่านการพูดคุยกับคนพิการ และผ่านมุมมองใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจต่อความยากลำบากในการดำรงชีวิตของคนพิการ เป็นพลังแห่งความเข้าใจที่จะถูกส่งต่อผ่านบทเพลงอนาชีด ที่ไม่จำเป็นต้องใช้หูฟัง ใช้ตาดู แต่ต้องใช้ใจที่เปิดกว้างในการรับฟัง แล้วจะได้สัมผัสและเข้าถึงความไพเราะ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่งดงามของคนพิการอย่างแท้จริง