ไลฟ์สไตล์

วันล่ะนิดกับภูมิหลังนก

วันล่ะนิดกับภูมิหลังนก

21 ส.ค. 2554

มาวันนี้จะพบกับ "นกตบยุงป่าโคก" หลายคนอาจจะไม่รู้จักและชื่อคงแปลกจนไม่คุ้นหู

           ฝนที่ตกหนักเป็นประจำในช่วงเวลานี้ของปีเปิดโอกาสให้ยุงเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าปกติมาก ยิ่งยุงเยอะก็ยิ่งก่อให้เกิดความรำคาญ เคยได้ยินคำบ่นประมาณว่า “ยุงเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่มีนกตบยุง!”  ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลกหรอกครับที่จะไม่มีนกมาตบยุงกินให้ดู เพราะนกตบยุง (Nightjar) เป็นนกหากินกลางคืนที่มีอาหารหลักคือผีเสื้อกลางคืนและแมลงขนาดใหญ่ หาใช่ยุงอย่างที่ชื่อของมันชวนให้เข้าใจผิด สัปดาห์นี้ขอเลือกนกตบยุงชนิดหนึ่งมาแนะนำให้ผู้อ่านรู้จัก มีชื่อว่า นกตบยุงป่าโคก (Savanna Nightjar)

           ในเวลากลางวัน นกตบยุงป่าโคกมักหลับนอนอยู่บนพื้นดินเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ไกลกันมาก ลายกระสีเขม่าเลอะเทอะดูไม่เป็นระเบียบทั่วทั้งตัวของนกตบยุงชนิดนี้ช่วยพรางตัวมันในสภาพแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน บ่อยครั้งจึงมักเห็นมันบินขึ้นจากพื้นก่อนที่เราจะเห็นตัว นกตบยุงชนิดนี้มักบินออกจากที่ซ่อนแล้วไปลงจอดบนพื้นดินบริเวณที่มีเนินหรือสิ่งกีดขวางบัง แต่ถึงแม้จะเห็นตำแหน่งที่มันบินลงไป ก็ยังคงหาตัวมันได้ไม่ง่ายอยู่ดีเมื่อนกตบยุงป่าโคกบินหนีไปแล้วครั้งหนึ่ง เพราะมันจะระแวงขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

           นกตบยุงป่าโคกมีแถบคิ้วและลวดลายไม่เข้มชัดเหมือนนกตบยุงชนิดอื่นๆ มีเพียงแต้มสีน้ำตาลอมส้มที่ปีก และรอบคอ อาจมีแถบเคราให้เห็นจางๆ เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นแถบสีส้มเป็นรูปตัว “V” พาดอยู่กลางหลัง

           รายละเอียดของลวดลายและสีสันนกตบยุงอาจทำให้การจำแนกชนิดเป็นเรื่องยากพอสมควร เอกลักษณ์ที่น่าจะจดจำได้ง่ายที่สุดของนกชนิดนี้คือขนหางคู่นอกของนกตัวผู้ที่เป็นสีขาวปลอดไปจนเกือบถึงปลายหาง ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่สามารถเห็นได้ชัดเจนขณะบิน

           อย่างไรก็ตาม นกตบยุงชนิดอื่นๆ เช่น นกตบยุงเล็ก (Indian Nightjar) ก็มีขอบสีขาวที่ขนหางคู่นอกเช่นกัน แต่ขนหางคู่นอกของนกตบยุงในสกุลเดียวทั้งสามชนิดมีแต้มสีขาวบริเวณปลายหางที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีแต้มสีขาวที่ขนปลายปีกทั้งสองข้างเช่นเดียวกับตัวผู้ของนกตบยุงอื่นๆ นกตัวเมียมีขนาดตัวเล็กกว่า แต้มที่ปีกเป็นสีน้ำตาลอ่อน และไม่มีสีขาวที่ขนหางคู่นอก

           เช่นเดียวกับนกตบยุงอื่นๆ นกตบยุงป่าโคกทำรังวางไข่บนพื้นดิน เมื่อมีสัตว์ผู้ล่าเข้าใกล้รังของมันมากเกินไป มันจะใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากรังและลูกๆ โดยการแกล้งบาดเจ็บ

           นกตบยุงป่าโคกเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าสน และทุ่งโล่งที่มีไม้พุ่มขึ้นอยู่ประปราย ตามปกติพบในระดับความสูงไม่เกิน 915 เมตร พบได้ตั้งแต่ทางตอนเหนือของปากีสถาน จีนตอนใต้ ไปจนถึงคาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคยกเว้นภาคใต้