
หนังใหญ่
ศิลปะการแสดงที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย และได้รับการยกย่องว่าเป็นมหรสพชั้นสุง
หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย เป็นการแสดงที่ใช้ตัวหนังขนาดใหญ่เป็นตัวละคร โดยมีผู้เชิดให้เกิดเงาบนจอ และใช้การพากย์ การเจรจาเป็นการดำเนินเรื่อง หลักฐานที่กล่าวถึงหนังใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา หนังใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหรสพชั้นสูง ใช้แสดงในงานพระราชพิธีและงานสำคัญของแผ่นดิน
เมื่อปี พ.ศ. 2310 การสูญเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ทำให้ศิลปะการแสดง โบราณสถาน โบราณวัตถุถูกทำลายเสียหายไปมาก ซึ่งได้มีการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกหนังใหญ่ว่า “หนัง” หลังยุบกรมโขนและกรมมหรสพหลังสมัยรัชกาลที่ 7 หนังใหญ่จึงไปอยู่ใต้อุปถัมภ์ของวัด จึงเรียกหนังใหญ่ในสมัยนี้ว่า “หนังราษฎร์”
องค์ประกอบสำคัญในการแสดงหนังใหญ่ ได้แก่ 1.ตัวหนัง ทำจากแผ่นหนังวัวแห้งขนาดใหญ่แกะสลัก ฉลุลวดลายสวยงามเป็นตัวละครต่างๆ ตรึงแผ่นหนังด้วยก้านไม้ เคลื่อนไหวโดยการเชิดผ่านแสงทาบเงาลงบนจอ 2.จอหนัง ขึงจอด้วยผ้าขาวในแนวสูงและกว้าง รอบจอใช้ผ้าสีแดงทาบริมทั้งสี่ด้าน เพื่อคนดูจะได้มองเห็นถนัดตา
3.ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ บรรเลงเพลงประกอบการเคลื่อนไหวและแสดงอารมณ์ต่างๆ ของการแสดง 4.ผู้เชิด เป็นชาย มีหน้าที่บังคับตัวหนังให้เคลื่อนไหวไปอย่างมีชีวิตชีวา เต้น รำไปตามบทบาทและทำนองเพลง
5.ผู้พากย์และเจรจามี 2 คน อยู่คนละมุมจอ ผู้พากย์จะต้องเข้าใจเรื่องที่จะแสดงเป็นอย่างดีและจะต้องเข้าใจดนตรี เข้าใจเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงด้วย 6.อุปกรณ์สร้างแสงสว่างในยามค่ำคืน ในสมัยโบราณใช้การก่อไฟเผากะลามะพร้าวเพื่อให้เกิดแสงนวลจับหน้าจดสวยงาม
7.วรรณกรรมที่ใช้แสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ การแสดงหนังใหญ่จึงเป็นการผสมผสานศิลปะหลายแขนง คือ หัตถศิลป์ วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ วาทศิลป์ และคีตศิลป์ มาปรุงแต่งเข้าด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน
ปัจจุบันนอกจากกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์และสืบสานหนังใหญ่แล้ว มีหนังใหญ่ในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 3 คณะเท่านั้น คือ หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง