
ศึกยกใหม่ไทย-เขมรชิงมรดกวัฒนธรรม
เขมรขึ้นทะเบียนนาฏศิลป์-วรรณคดีเกมใหม่สงครามชิงศิลปวัฒนธรรม : โต๊ะรายงานพิเศษ
เข้าตำราได้คืบจะเอาศอก... ภายหลังกัมพูชาลอบนำรำไทย ท่าจีบไทย และหนังใหญ่ของไทย ขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่ไม่มีตัวตน กับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยเตรียมรุกคืบขึ้นทะเบียนดนตรีไทย เช่น ระนาด จะเข้ ขิม วรรณคดีไทย เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี สถาปัตยกรรมไทย เช่น วัดพระแก้ว เรือนไทย ลายไทย รวมทั้งมวยไทย เลขไทย และคำราชาศัพท์
ใครจะเชื่อว่า "พระอภัยมณี" วรรณคดีที่เด็กไทยอ่านตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียนประถม อยู่มาวันหนึ่งส่อเค้าว่าเพื่อนบ้านหอกข้างแคร่ คิดการใหญ่ก่อสงครามชิงพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม วิญญาณของ พระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านคงจะตำหนิลูกหลานชาวสยามอย่างรุนแรง ถ้าปล่อยให้ชาติอื่นฉกไปครอบครอง
เมื่อการณ์มาถึงขั้นนี้ เหล่านักรบไซเบอร์ต่างระดมพลังปลุกกระทวงคืนศิลปะประจำชาติผ่านทาง http://www.pantip.co.../F10252842.html พร้อมทั้งส่งฟอร์เวิร์ดเมล หัวเรื่อง "เขมรเตรียมขึ้นทะเบียนขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี และวัดพระแก้ว กับUNESCO" ร่วมกันตัดไฟแต่ต้นลม
เล่ห์กลกัมพูชาวางแผนระยะยาวไว้คือ ในเมื่อเอาดีด้านเศรษฐกิจการค้าไม่ได้ จึงวาดฝันถึงจะเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ขบวนการปลุกปั่นกระแส กล่าวหาว่าคนไทยเลียนแบบรำไทย ดนตรีไทย และวรรณคดีไทยจากเขมร รวมถึงสถานที่ต่างๆ เช่น วัดพระแก้ว หรือพระบรมมหาราชวังของไทย
วิธีการคือ ตั้งกลุ่มเขมรเข้าเว็บไซต์ยูทูบ เปิดคลิปประเภทรำไทยและดนตรีไทย จากนั้นเขียนคอมเมนท์ทำนองว่า "เขมรแต่งมาก่อน ไทยก๊อปปี้เขมรไป", "อาณาจักรเขมรมีมาก่อนไทยในภูมิภาคนี้ใครๆ ก็รู้", "ตอนที่ไทยตีนครวัดได้ ไทยกวาดศิลปินนักดนตรีนางรำเขมรไป", "ไทยเป็นเมืองทาสเขมร สุโขไททรยศเขมรขโมยสมบัติวัฒนธรรมเขมรไปหมด", "ไทยนั่นแหละเรียนรำกับดนตรีมาจากเขมร เพราะเขมรมีมาก่อนตั้งเป็นพันปีมาแล้ว", "เขมรไม่ยอมรับว่าเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยเลย" และ "เขมรไม่ยอมรับว่าไทยยกเขมรให้กับฝรั่งเศส แต่ตกเป็นของฝรั่งเศสเองต่างหาก"
ทว่าเมื่อกางประวัติศาสตร์มาถกกัน เดิมรำไทยและดนตรีไทยนั้น เขมรเพิ่งเริ่มต้นในยุครัตนโกสินทร์ ช่วงประมาณ 140 ปี สมัยที่ นักองด้วง เจ้าชายเขมรซึ่งถูกส่งตัวมาเป็นเชลยหลวงในราชสำนักไทย ได้ร่ำเรียนภาษาไทย วรรณคดีไทย ดนตรีไทย สถาปัตยกรรมไทย เมื่อครบวาระได้กลับไปครองราชย์ที่เมืองเขมร ได้นำวิชาความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ด้วย แม้แต่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็สร้างในเมืองไทยแล้วส่งไปกัมพูชา
นอกจากนี้ นักองด้วงได้นำวรรณคดีหลายเรื่องแปลเป็นภาษาเขมร สร้างวัด และวังใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะพระราชวังและวัดพระแก้ว ขอย้ำว่าภายในพระราชวังพนมเปญ มีวัดพระแก้วเช่นเดียวกับในเมืองไทย แถมตั้งชื่อ "วัดพระแก้ว" หรือตามสำเนียงเขมรว่า "Wat Phreah Keo"
แค่มองอย่างผิวเผินก็รู้ว่า พระราชวังและวัดพระแก้วของเขมร เหมือนพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วของไทย แทบทุกกระเบียดนิ้ว เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย ยอดปราสาทไทย นิยมใช้แบบ "ยอดปรางค์" หรือ "ยอดแบบเขมร" แต่พอเข้าสู่สมัยอยุธยายอดปราสาทไทย เปลี่ยนจากยอดปรางค์ไปเป็น "ยอดมณฑป" หรือ "ยอดปราสาท" ถือเป็นศิลปะไทยบริสุทธิ์ ทว่าเขมรยังใช้ยอดปรางค์ ในจุดนี้สะท้อนชัดเจนว่า พระราชวังและวัดพระแก้วเขมรที่ใช้ยอดมณฑปนั้น ลอกเลียนแบบไทยชัดเจน
ที่เจ็บแสบคือ นักองด้วงได้ขอร้องทางราชสำนักไทยให้ช่วยส่งครูละคร ครูดนตรีไปฝึกสอนให้ที่ราชสำนักเขมร ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่ไทยมีต่อนักองด้วง เนื่องจากไทยเราได้เลี้ยงนักองด้วงมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จึงส่งครูนาฏศิลป์ดนตรีไปฝึกสอนถึงราชสำนักเขมรให้ตามที่ท่านร้องขอ นับตั้งแต่นั้นเขมรจึงได้มีนาฏศิลป์และดนตรีไว้ในวังของตัวเอง ต่อมาครูไทยยังเดินทางไปสอนอีกหลายครั้งหลายครา ที่ครั้งสำคัญ คือ องค์หญิงฉวีวาด ท่านป้าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ยกละครไปทั้งโรงไปที่ราชสำนักเขมรด้วย ส่วน ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ทางราชสำนักเขมร
กระทั่งธรรมเนียมในการเรียนรำ หรือการไหว้ครูในวิทยาลัยนาฏศิลป์เขมร ยังนุ่งผ้าแดงเรียนเหมือนไทยเปี๊ยบ พิธีไหว้ครูก็ตั้งเครื่องตั้งสำรับอย่างไทย แต่งกายอย่างไทย มีองค์ประธานอย่างไทย แต่งตัวเรียกเพลง ขั้นตอนต่างๆ ล้วนเหมือนทั้งสิ้น
ว่ากันตรงๆ คือ ถ้าประธานพิธีไม่พูดภาษาเขมร ย่อมไม่รู้ว่า นี่เป็นพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ของเขมร
ส่วน ระบำอัปสรา ที่เข้าใจผิดกันนักกันหนาว่าเป็นเขมรแท้ๆ ความจริงระบำอัปสราเป็นระบำที่เพิ่งคิดขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ 60 ปีนี้เอง รำครั้งแรกโดย เจ้าหญิงบุปผาเทวี โดยใช้ท่ารำต่างๆ อย่างรำไทยทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายใหม่ โดยออกแบบขึ้นมาใหม่เลียนแบบจากภาพสลักบนกำแพงนครวัด ดังนั้นระบำอัปสราก็คือ "รำไทย" แค่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายใหม่ คล้ายกับระบำโบราณเท่านั้น
สอดคล้องกับบล็อกเกอร์ "engon" เขียนในชุมชนออนไลน์ชาวขอนแก่น" อ้างถึงบทความชิ้นหนึ่งของ อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนไว้เกือบ 40 ปีก่อน ทำนองว่าเขมรพยายามทำทุกอย่างเพื่อพัฒนานาฏศิลป์หวังจะเป็นต้นแบบของภูมิภาคอาเซียน
อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์กล่าวถึงจดหมายของผู้ใช้นาม "ผู้ที่ใกล้ชิดกับคนเขมร" ให้ข้อมูลว่า เขมรส่งสายสืบเข้ามาในประเทศไทย เพื่อคัดลอกภาพและจิตรกรรมฝาผนังบนระเบียงคดของวัดพระแก้วอย่างละเอียด ตั้งแต่การแต่งกาย การจัดฉาก พร้อมทั้งแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาเขมร นอกจากนี้หนังสือเกี่ยวกับ "รามเกียรติ์" จากพระราชนิพนธ์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 6 พวกเขาก็ซื้อไปแปลเรียบร้อยแล้ว เขมรพยายามทำทุกอย่าง เพื่อมหาเทศกาลครั้งนี้ (เทศกาลรามายณะ ณ เทวสถานปรัมบานัน อินโดนีเซีย) และคิดว่าเขมรต้องมีสายอยู่ในกรมศิลปากรด้วย เพื่อดูว่าไทยจะส่งชุดนาฏศิลป์ตอนใดไป? เรื่องนี้น่าประหลาดมาก
ในตอนท้าย อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ตอบว่า "เขมรได้นาฏศิลปทุกอย่างไปจากไทยนั้น ใครๆ ก็รู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขมรพยายามกลบเกลื่อนตลอดมา"