ไลฟ์สไตล์

'กล้วยหินฉาบ'ขนมสร้างชื่อถิ่น'บันนังสตา'

'กล้วยหินฉาบ'ขนมสร้างชื่อถิ่น'บันนังสตา'

12 ส.ค. 2554

'กล้วยหินฉาบ'ขนมสร้างชื่อถิ่น'บันนังสตา'

          หากเอ่ยถึง “กล้วยหิน” อาจเกิดคำถามปนอาการสงสัยปรากฏขึ้นกับใครหลายคน แต่สำหรับพี่น้องในชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะบรรดากลุ่มผู้เลี้ยงนกปรอด หรือที่รู้จักกันในนาม “นกกรงหัวจุก”บอกได้เลยทันทีว่ากล้วยสายพันธุ์นี้คืออาหารชั้นเลิศ และเป็นของหายากชนิดต้องแย่งกันซื้อเลยทีเดียว
 
          ด้วยความที่เป็นผลไม้เฉพาะถิ่นและหายาก ส่งผลให้ “กล้วยหิน” กลายเป็นสินค้าที่มีราคาไม่ต่ำกว่าหวีละ 50 บาท ซึ่งถือสูงกว่ากล้วยสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรา ณ เวลานี้
 
          แม้กล้วยหินจะมีราคาอีกทั้งความต้องการในท้องตลาดที่มีราคาสูงอยู่ในระดับน่าพอใจสำหรับเกษตรกรเป็นทุนเดิม แต่สมาชิกสตรีและกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กลับหวังต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มช่องทางนำเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่อีกทางหนึ่ง
 
          “แวมีเนาะ ตาเละ” ประธานกลุ่มสตรีและแม่บ้านยีลาปัน ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เจ้าของผลิตภัณฑ์ กล้วยหินฉาบ ยี่ห้อ “บันตู”  ซึ่งเป็นภาษามาเลย์ มีความหมายว่า “อุดหนุน” เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นในปี 2539 ได้รวบรวมสมาชิกกลุ่มสตรีแม่บ้านไม่กี่ชีวิตเพื่อหารายได้เสริมโดยการหันมาแปรรูปกล้วยหินให้มีมูลค่าเพิ่ม กระทั่งปัจจุบันมีคนเข้าร่วมกว่า 20 ชีวิต ที่สำคัญมีกลุ่มสมาชิกเกิดใหม่อีกจำนวนมากที่หันมาจับตลาดกล้วยหินฉาบขณะนี้ เหตุผลเพราะอร่อย ขายง่าย ราคาดี นั่นเอง
 
          ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ข่าวคราวของอำเภอบันนังสตา มักเป็นไปในแง่ลบ ดังนั้นการแปรรูปกล้วยหินเพื่อเป็นสินค้าออกวางจำหน่าย จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มสตรี หวังว่าจะช่วยสร้างความรู้สึกและเกิดทัศนคติในแง่ดีให้แก่มาตุภูมิแห่งนี้บ้าง
 
          “เราพยายามแปรรูปกล้วยหินฉาบให้ออกมาดี มีรสชาติอร่อยถูกใจผู้บริโภค เพื่อให้ลูกค้าคิดถึงพวกเราในแง่ดีๆ เพื่อกลบกระแสข่าวด้านลบที่เป็นผลพวงจากเหตุความไม่สงบ” แวมีเนาะ  กล่าว
 
          ด้าน “วันอัสมา ตาเละ” หนึ่งในสมาชิกสตรียุคบุกเบิกกลุ่ม “กล้วยหินฉาบบันนังสตา กลุ่มแม่บ้านยีลาปัน” กล่าวว่า ปัจจุบันกล้วยหินฉาบแปรรูยี่ห้อ “บันตู” ผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของกลุ่มแม่บ้านยีลาปัน ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดดด้วยกัน 3 รสชาติ ประกอบด้วยรสหวาน รสเค็ม และรสปาปริก้า 
 
          ส่วนราคาจำหน่ายในท้องตลาดนั้นแบ่งเป็น 2 ขนาด คือ ปริมาณครึ่งกิโลกรัม สนนราคาขาย 100 บาท และอีกขนาดคือบรรจุห่อ 20 บาท โดยขณะนี้การผลิตยังไม่เพียงพอรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่ทั่วประเทศ หลังจากได้นำออกตระเวนจำหน่ายร่วมกับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น ทำให้ขณะนี้สินค้าที่ออกสู่มือลูกค้าเป็นสินค้าที่ผลิตใหม่ทุกวัน
 
          “วันอัสมา” กล่าวอีกว่า จากความสำเร็จในการนำกล้วยหินมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบปรุงรส ส่งผลให้บรรดาสมาชิกสตรีและแม่บ้านในกลุ่มลายีปัน มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่ารายละ7,000บาทต่อเดือน หากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญจะมีรายได้เพิ่มถึงหมื่นบาทต่อรายเลยทีเดียว
 
          “ส่วนใหญ่สตรีและแม่บ้านจะมีเวลาหลังจากทำสวนยาง และสวนผลไม้มารวมกลุ่มแปรรูปกล้วยหินในช่วงบ่าย และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าสามารถช่วยให้หลายชีวิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น แม้นเวลานี้สถานการณ์ในพื้นที่จะยังไม่ปกติดีนักก็ตาม” วันอัสมา กล่าวด้วยรอยยิ้ม
 
          สตรีมุสลิมรายนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากใครอยากลองลิ้มรสชาติความอร่อยของกล้วยหินฉาบปรุงรสจากดินแดนบันนังสตา ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-6286-7502 ยินดีจัดส่งให้ถึงมือผู้บริโภคทุกรายทั่วประเทศ

"สุพิชฌาย์ รัตนะ"