
ฤาษีพันปีเขมรเข้าฝันชาวบ้านขุดพบเจอรูปสลัก
ฤาษีพันปีเขมรเข้าฝันชาวบ้าน ชี้จุดสวนครัวขุดพบเจอรูปสลัก โผล่อีกภาชนะดินเผาพิสดาร 2 พันปีถ้ำเสือจ.ระนอง นักโบราณคดีเผยพบครั้งแรกในไทย ชาวบ้านแห่มอบโบราณวัตถุกรมศิลปากรจ่ายเงินรางวัลตอบแทนรักษาสมบัติชาติ
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทางสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ว่า ชาวบ้านขุดพบเจอรูปสลักหัวของฤาษี โดยได้รับแจ้งจากนางเยื้อม เสือสุข บ้านเลขที่ 144 หมู่ที่ 10 ตำบลยายแย้มวัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้ขุดพบโบราณวัตถุจำนวน 1 รายการบริเวณพื้นที่เพาะปลูกผักสวนครัวของบ้าน
จึงขอให้เจ้าหน้าที่โบราณคดีมาตรวจสอบดู และจากการพิเคราะห์ลักษณะเป็นรูปกลีบขนุนเนื้อหินทรายแกะสลักรูปฤาษี เป็นศิลปะสมัยลพบุรี อิทธิพลเขมรแบบปาบวน พุทธศตวรรษที่ 16 - 17 (พ.ศ. 1650 - 1700) อายุประมาณ 850 - 900 ปี ซึ่งในเอกสารรายงานได้สอบถามผู้ขุดพบโบราณวัตถุชิ้นนี้ว่า มีฤาษีมาเข้าฝันและชี้จุดให้ขุด พอขุดตามความฝันปรากฏว่าพบโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวที่อยู่ลึกจากผิวดินลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อนำขึ้นมาแล้วทางผู้พบเต็มใจมอบให้พิพิธภัณฑสถานฯ เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ยังได้รับรายงานพบโบราณวัตถุอีก 1 รายการโดยสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ได้รับการแจ้งประสานจากนายสุนทร เตวิชา อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29/1 หมู่ 1 ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ได้เข้าไปที่แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือในตำบลดังกล่าวพบภาชนะดินเผาแบบโบราณ จึงนำมามอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ โดยนักโบราณคดีได้ทำการตรวจสอบพิสูจน์ภาชนะดินเผานี้ พบว่ามีลักษณะเนื้อดินเคลือบขัดมัน มีปุ่มแหลมรูปทรงกรวยคว่ำ ยังไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน แต่จะพบในแถบอ่าวเบงกอลอินเดียใช้ในพิธีกรรม กำหนดอายุเบื้องต้นราว 2,000 ปี นับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยเส้นทางการติดต่อแลกเปลี่ยนด้านการค้าและวัฒนธรรมระหว่างดินแดนอุษาคเนย์กับอินเดียได้เป็นอย่างดี
“การที่ประชาชนได้ขุดพบโบราณวัตถุที่อยู่ในพื้นที่ดินของตนหรือพบเห็นในแหล่งโบราณคดีแล้วแจ้งให้กรมศิลปากรรับทราบไปตรวจสอบนับเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะช่วยกันรักษาสมบัติของชาติ ทั้งเป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 คุ้มครองศิลปวัตถุให้คงอยู่ ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังระบุถ้าผู้พบนำมาส่งมอบให้กรมศิลปากร ทางกรมจะมีเงินรางวัล 1 ใน 3 ของมูลค่าศิลปวัตถุชิ้นนั้น อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการกำหนดเงินรางวัลสำหรับผู้เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินฯ ได้ร่วมกันประเมินราคาศิลปวัตถุหัวฤาษีชิ้นนี้ประมาณ 9,000 บาท ผู้มอบจะได้เงินรางวัล 3,000 บาท และภาชนะดินเผามีมูลค่า 15,000 บาท ผู้ส่งมอบได้ 5,000 บาท ซึ่งกรมศิลปากรจะได้แจ้งให้ชาวบ้านทั้ง 2 รายมารับมอบเงินรางวัลดังกล่าว” นางโสมสุดา กล่าว