
ฟื้นภูมิปัญญาติดตายางในหลุมลดต้นทุนช่วงกล้ายางขาดแคลน
หลังภาครัฐตัดสินใจเดินหน้าโครงการยาง 8 แสนไร่บวกกับกระแสราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ หันมาปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตกล้ายางเร่งระดมกว้านซื้อตอตาเขียวที่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ถึงตอละกว่า 15
ถึงแม้ผู้ผลิตจะมีแปลงกล้าที่ได้ทำการเพาะเมล็ดไว้เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ต้องพบกับปัญหาข้อจำกัดทั้งเรื่องต้นตอและแรงงานคนติดตายางที่ขาดตลาด จึงคาดว่าต้นยางชำถุงในปีนี้จะมีราคาพุ่งสูงขึ้นถึงต้นละ 40-50 บาท นอกจากนี้เกษตรกรและผู้ปลูกต้องพึงระวังในเรื่องต้นยางชำถุงที่อาจไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ตรงตามสายพันธุ์
"จริงๆ แล้วเรื่องต้นพันธุ์กล้ายาง ปัจจุบันนี้ยังคงหาซื้อได้โดยเฉพาะยางถุงนั้น ไม่ได้ขาดตลาดจนหาซื้อไม่ได้ตามที่มีกระแสข่าวออกมา ยังคงมีเพียงพอจำหน่ายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่เนื่องด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน อีกทั้งราคายังตึงอยู่ อาจจะทำให้เกษตรกรเองตัดสินใจซื้อ หรือหาซื้อที่ราคาถูกกว่ายากขึ้น จนมองว่าพันธุ์กล้ายางขาดตลาด"
ศุภมิตร ลิมปิชัย นักวิชาการเกษตร ผู้ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางสงขลาเผยถึงสถานการณ์กล้าพันธุ์ยางพารา โดยระบุว่าราคายางถุงที่จำหน่ายกันอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบัน อยู่ที่ถุงละกว่า 40 บาท หากจำหน่ายในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ตกถุงละประมาณ 50 บาท ซึ่งเป็นพันธุ์กล้ายางทางภาคใต้ที่นำไปปลูก แต่เพื่อลดปัญหาดังกล่าวจึงแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีติดตาแทนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกร ซึ่งหากตรงนี้ทำได้เท่ากับว่าจะช่วยลดต้นทุนลง รวมถึงลดปริมาณความต้องการที่มากขึ้นลงได้ด้วย เพราะเขาจะมีทางเลือกใหม่เพิ่มอีกทางหนึ่ง
โดยเฉพาะการแนะนำให้ความรู้เรื่องของการนำเมล็ดพันธุ์ยางมาเพาะในหลุมปลูก หรือที่เรียกกันว่า ปลูกแบบสอง หรือปลูกเมล็ดเพื่อติดตาที่หลุมปลูก ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีดั้งเดิมตั้งแต่ในอดีตที่เคยทำกันมานาน แต่การดูแลรักษาต้นกล้านั้นนานพอสมควร ทำให้เกษตรกรไม่นิยมใช้วิธีนี้ จนปัจจุบันวิธีนี้เลือนหายไป อย่างไรก็ตามเมื่อเจอกับสถานการณ์อย่างนี้ วิธีการดังกล่าวก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกได้
นายศุภมิตร ระบุอีกว่า สำหรับพันธุ์กล้ายางแต่ละพันธุ์จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศแตกต่างกัน อย่างเช่น พันธุ์กล้ายาง RRIM600 ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีฝนตกชุกหนาแน่น อย่างในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ตราด ที่มีฝนตกชุก ซึ่งจะง่ายต่อการเกิดโรคระบาดในยางพารา โดยเฉพาะเชื้อโรคไฟทอปธอร่า หรือโรคใบร่วง
ส่วนพันธุ์กล้ายางพันธุ์อาร์อาร์ไอที 251(RRIT251) สำหรับพันธุ์กล้ายางชนิดนี้ ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของลมกระโชกแรง มีระดับน้ำใต้ดินสูง และมีพื้นที่ระดับหน้าดินตื้น เพราะจะต้นยางโยกคลอนเอนล้มลงมาได้ง่าย ขณะที่พันธุ์กล้ายางอาร์อาร์ไอที 408 (RRIT408) ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์นี้ก็ไม่แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่มีระดับหน้าดินตื้น ส่วนข้อจำกัดอื่นๆ ไม่มีปัญหามากนัก
เพราะฉะนั้นเกษตรกรชาวสวนยางพาราท่านใดที่ต้องการจะปลูกยางพารา ก็ควรที่จะศึกษาพื้นที่และสภาพภูมิประเทศของตนเองอย่างละเอียดก่อน เพื่อให้ได้พันธุ์กล้ายางที่เหมาะสมกับพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศ แล้วจะได้ต้นยางพาราที่ดีมีคุณภาพในการสร้างผลผลิตให้เรา
"ธรณิศวร์ พิรุณละออง"