
รวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลา
รวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลา อีกอาชีพเสริมรายได้ชาวบ้านบึงคำพร้อย
ชาวบ้านบึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้นำแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จนประสบความสำเร็จ โดยใช้เวลาว่างจากการทำนาข้าว ขุดบ่อเลี้ยงปลาดุกส่งขายแม่ค้าพ่อค้า เมื่อราคาปลาตก ก็หันมารวมกลุ่มแปรรูปเป็นปลาดุกแดดเดียวส่งขายสร้างรายได้เพิ่ม ก่อนจะยกระดับเป็นสินค้า 4 ดาว ของเมืองปทุมธานี
สวิง แก้วพวง อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ประธานกลุ่มแม่บ้านตำบลบึงคำพร้อยแปรรูปอาหารจากปลา ย้อนอดีตให้ฟังว่าหลังจากว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านในแถบนี้ก็หันมาเลี้ยงปลาดุกขาย ต่อมาปริมาณการเลี้ยงได้เพิ่มมากขึ้น ราคาปลาดุกราคาตกต่ำเหลือกิโลกรัมละไม่ถึง 20 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุน ตนจึงรวบรวมสมาชิกได้จำนวน 60 คน และระดมทุนกันหุ้นละ 100 บาท จัดตั้งกลุ่มแปรรูปอาหารจากปลา เป็นปลาดุกแดดเดียว ออกจำหน่าย ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มเราเป็นรูปเป็นร่างและเริ่มแข็งแรงขึ้น
จากนั้นสำนักงานประมงอำเภอลำลูกกา ได้เข้ามาสนับสนุนให้กลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และยังมอบทุนจำนวน 2 แสนบาท เพื่อสร้างอาคาร และจัดหาอุปกรณ์การผลิต การแปรรูปแล้วก็ส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรที่จังหวัดในปีพ.ศ.2547 ได้รางวัลโอท็อประดับ 4 ดาว พร้อมทั้งได้มาตรฐานจีเอ็มพี จากคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย
"กรรมวิธีการทำปลาดุกแดดเดียว ก็เริ่มจากนำปลาดุกเป็นๆ มาคลุกเคล้ากับเกลือและขมิ้น เมื่อปลาดุกน็อกแล้ว ก็นำมาตัดหัวล้าง ควักไส้ออก แผ่ตัวปลาออก ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำปลามาแช่ในน้ำปรุงรสที่เตรียมไว้ประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นนำปลามาตากแดดพึ่งลม ในเวลาพอสมควรก่อนจะไปนำบรรจุหีบห่อเพื่อออกจำหน่าย ในราคาที่ขึ้นลงตามราคาของปลาดุกปัจจุบันนั้นเราขายในราคากิโลกรัมละ 140-160 บาท ซึ่งทุกวันนี้กลุ่มเราได้รับออเดอร์เป็นจำนวนมากจากที่ต่างๆ ทั้งบริษัท ห้างร้านในพื้นที่และจังหวัดต่างๆ สั่งเข้ามามากจนผลิตไม่ทัน"
ประธานกลุ่มแม่บ้านตำบลบึงคำพร้อยแปรรูปอาหารจากปลาเผยถึงรายได้หรือเงินปันผลของสมาชิกนั้น ถือเป็นรายได้เสริม เพราะนอกจากมีรายได้จากการปันผลกำไรของกลุ่มแล้ว สมาชิกก็ยังมีรายได้จากการนำปลาดุกที่เลี้ยงไว้มาขายให้แก่กลุ่มด้วย ซึ่งกลุ่มก็รับซื้อในราคาตลาด ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการทำนาที่เป็นอาชีพหลักอย่างดีด้วย นอกจากนี้กลุ่มของเรายังมีการหักเงินปันผลกำไรประมาณ 10% ไปมอบให้แก่สาธารณกุศล เช่น วัด หรือโรงเรียนต่างๆ ทุกปีเพื่อคืนกำไรให้แก่สังคมอีกด้วย
ขณะที่ ปรีดา สุวพัฒน์ ประมงอำเภอลำลูกกากล่าวถึงการช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านบึงคำพร้อยในการแปรรูปปลาดุกเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด โดยระบุว่าในช่วงเริ่มต้นนั้นมีทุนน้อย กรมประมงจึงสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนพร้อมทั้งอุปกรณ์ในการแปรรูปจนกลุ่มเติบโตขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2554 นี้ ได้จัดส่งประกวดคัดเลือกสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ คือกลุ่มแปรรูปอาหารจากปลา และก็ได้รับรางวัลที่ 2 คือสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2553/2554 ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่กลุ่มนี้เป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลระดับชาติในปีนี้ด้วย
ด้าน สิทธิเกียรติ กาญจนดิลก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บึงคำพร้อยยอมรับว่า กลุ่มอาชีพแปรรูปปลาดุกแดดเดียว ถือว่าเป็นตัวหลัก กลุ่มเดียวที่ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ในส่วนของ อบต.นั้นก็ได้สนับสนุนในด้านของแพ็กเกจ กล่องบรรจุหีบห่อ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ อีกมากมาย เมื่อกลุ่มร้องขอมาว่าต้องการเพิ่มเติมเราก็สนับสนุนให้ และขณะนี้ตนมีแนวคิดว่าอยากส่งเสริมให้กลุ่มยกฐานะขึ้นเป็น อุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อที่จะได้มีกำลังการผลิตให้ทันความต้องการของตลาด แต่ต้องพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มก่อนว่ามีความพร้อมขนาดไหน
"ถ้าพร้อมเราก็อาจจะมองหาพื้นที่สาธารณะปลูกสร้างโรงเรือนใช้เครื่องจักร เข้ามาในกระบวนการผลิต แต่ส่วนหนึ่งเราต้องดูว่าคณะกรรมการที่บริหารกลุ่มตรงนี้อยู่ว่าจะคงการผลิตแบบดั้งเดิมหรือชอบแบบแนวใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม เรามีงบประมาณพร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นไปได้เราก็จะยกฐานะเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งจะเป็นการดี เพราะขณะในนี้กลุ่มมีออเดอร์เข้ามามากแต่กลุ่มก็ผลผลิตไม่ทัน แต่ถ้าเรามีแรงงานหลักๆ สามารถผลิตได้ทันอย่างแน่นอน แต่กลุ่มก็ต้องรักษาหรืออนุรักษ์ขั้นตอนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ด้วย" นายกอบต.บึงคำพร้อยกล่าวถึงการสนับสนุนกลุ่ม
การแปรรูปอาหารจากปลาของกลุ่มแม่บ้านตำบลบึงคำพร้อย นับเป็นอีกทางเลือกในการทำอาชีพเสริมรายได้ของสมาชิกในกลุ่มอันจะนำไปสู่อุตสาหกรรมขนาดย่อมของตำบลบึงคำพร้อยต่อไปในอนาคต
"พนอ ชมภูศรี"