
ตรวจตา ลดเสี่ยง Floater
Floater คือ ตะกอนในน้ำวุ้นในตา ลักษณะอาจคล้ายใย หรือจุดเล็กๆ ซึ่งเคลื่อนไหวไปมาได้ การเคลื่อนไหวของน้ำวุ้นดวงตา ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้สูญเสียการมองเห็น และตะกอน หรือเงาดังกล่าว อาจพบได้จากการตรวจตา โดยเห็นเป็นตะกอนในน้ำวุ้นตาที่มีรูปร่างต่างกัน
สาเหตุของ Floater พบมากที่สุด คือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของน้ำวุ้นตา ซึ่งน้ำวุ้นตานี้ ประกอบจากน้ำ 99% และของแข็ง 1% (ได้แก่คอลลาเจน และ hyaluronic acid) เมื่อน้ำวุ้นตามีการเปลี่ยนสภาพ จะหดตัวลงบางส่วนเปลี่ยนจากวุ้นเป็นน้ำ และเกิดเป็นตะกอนลอยไปมาได้ โดยมักจะมีไม่มากนัก
น้ำวุ้นตาลอก เมื่อวุ้นตามีการเปลี่ยนสภาพ โครงสร้างของคอลลาเจนหดตัวลง เยื่อหุ้มน้ำวุ้นตาด้านนอกมีการแยกชั้นออกมาจากจอตา (Retina) อาจเกิดการดึงรั้งจอตาบางส่วน ทำให้มีการกระตุกจอตาให้เห็นเป็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ ซึ่งอาจทำให้เกิดจอตาฉีกขาดช่วงนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษามีน้ำซึมเข้ารูฉีกขาดจะเกิดจอตาลอกหลุดได้
สาเหตุอื่นๆ อาจเกิดได้จากเลือดออกในน้ำวุ้นตา (Vitreous haemorrhage), ตะกอนแคลเซียมในน้ำวุ้นตา (Asteroid hyalosis), น้ำวุ้นตาอักเสบ (Vitritis) ซึ่งจะต้องแยกการวินิจฉัยด้วยการตรวจตา
การตรวจตาเมื่อมี Floater
จักษุแพทย์จะทำการตรวจตา โดยดูทั้งด้านหน้าด้วย slitlamp (ตะกอนในน้ำวุ้นตา อาจทำให้เห็นลักษณะคล้าย floater ได้) ควรหยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตา ยาจะมีผลทำให้ตามัวลง มองใกล้ๆ ไม่ชัด สู้แสงไม่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง เนื่องจากม่านตาขยายใหญ่ และแสงเข้าได้มากกว่า ถ้าได้รับการตรวจแบบขยายม่านตา ไม่ควรขับรถมาเอง และควรมีคนพากลับบ้าน
การตรวจจอตา ทำได้โดยการใช้ slitlamp ร่วมกับ lens (อาจมีทั้ง contact และ non-contact lens) หรือ indirect ophthalmoscope เพื่อดูจอตาว่า มีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่ และที่สำคัญ ถ้าเป็น Floater ที่มี flashing ต้องหาว่าจอตามีรอยฉีกขาดหรือไม่ เพราะถ้าจอตามีรอยฉีกขาด แล้วไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดจอตาลอก และเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
การรักษา
ถ้าเกิดจากน้ำวุ้นตาหดตัว หรือน้ำวุ้นตาลอก แล้วตรวจไม่พบรอยฉีกขาดของจอตา ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเห็นตะกอนน้ำวุ้นจำนวนมากขึ้น และรู้สึกมีแสงไฟลักษณะคล้ายแสงฟ้าแลบเกิดบ่อยขึ้น มีการนัดตรวจต่อเนื่องเป็นระยะ
ถ้าพบรอยฉีกขาดของจอตา หรือพบว่ามีความเสี่ยงต่อจอตาลอก เช่น จอตาบาง ตรวจพบมีการดึงรั้งที่จอตา โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เคยมีจอตาลอก สายตาสั้นมาก หรือเป็นการตรวจตาก่อนทำเลสิก (LASIK) จะพิจารณายิง Laser เพื่อล้อมรอบบริเวณที่มีการฉีกขาดหรือบาง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดจอตาลอก โดยการยิง Laser นี้ สามารถทำได้ทันทีหลังตรวจ โดยจะหยอดยาชา และใช้ contact lens ช่วยในระหว่างการยิงเลเซอร์ (Laser) ทั้งนี้ หลังยิงเลเซอร์แล้ว สามารถกลับบ้านได้ ไม่มีบาดแผลภายนอก จึงสามารถปฏิบัติตนได้ตามปกติ
กรณีที่พบว่าเกิดจากเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือน้ำวุ้นตาอักเสบ จะรักษาตามสาเหตุของโรคนั้นๆ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โทร.1719