ไลฟ์สไตล์

โรงอบยางแผ่น "แสงอาทิตย์"

โรงอบยางแผ่น "แสงอาทิตย์"

26 ก.ค. 2554

โรงอบยางแผ่น "แสงอาทิตย์" วิจัยดีเด่น-ลดต้นทุนเกษตรกร

          ยางแผ่น เป็นผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ที่เกษตรกรนิยมผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทว่าการผลิตของชาวสวนส่วนใหญ่มักนำไปตากแดดซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพยาง ทำให้แผ่นยางเหนียวเยิ้ม มีสีคล้ำจากรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) ทั้งต้องใช้เวลาผึ่งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากฝนตกหรืออากาศชื้นจะทำให้ยางแห้งยากและมีระดับความชื้นสูง กรมวิชาการเกษตร โดย นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางสงขลาและทีมงาน จึงค้นคว้าวิจัยพัฒนา “โรงอบยางแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเตาเผา” เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางแผ่นให้เกษตรกร
 
          นางปรีดิ์เปรม กล่าวว่า ทีมวิจัยของศูนย์ได้ศึกษาและออกแบบโรงอบยางนี้เพื่อต่อยอดและช่วยแก้ไขให้เกษตรกรในการตากแผ่นยาง โดยเฉพาะปัญหาในช่วงที่ไม่มีแดดหรือฝนตก โดยให้หันมาใช้ความร้อนจากเตาเผาแทน อีกทั้งจากการทดสอบผลที่ได้นอกจากทำให้ได้ยางแผ่นคุณภาพดี มีสีสวยแล้ว แถมยางแผนที่ได้จากโรงอบนี้ยังตัดปัญหาการขึ้นราไปได้โดยสิ้นเชิง
 
          "โรงอบยางนี้ทำด้วยโครงเหล็กกว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร ผนังและหลังคาบุด้วยสังกะสีทาสีดำเพื่อป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตจะสัมผัสกับผิวยาง ป้องกันยางเสื่อมสภาพ หลังคามีปล่องระบายความชื้นทั้ง 4 ด้าน มีแผงรับความร้อนที่ทำด้วยแผ่นพลาสติกใสพื้นที่ 78 ตารางเมตร เพื่อให้แสงอาทิตย์ตกกระทบกักเก็บความร้อนแล้วระบายเข้าห้องอบ ส่วนพื้นด้านล่างปูด้วยทรายและหินตามลำดับหนา 10 เซนติเมตร ปรับให้มีความลาดชัน 15 องศา เพื่อให้อากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในห้องอบได้สะดวก" นางปรีดิ์เปรม แจง

          พร้อมระบุว่าตัวโรงอบมีประตูเข้าออก 2 ด้าน เพื่อความสะดวกในการนำยางเข้าอบและนำยางที่แห้งแล้วออกอีกด้านหนึ่ง ด้านในมีรถตากยางทำด้วยโครงเหล็กกว้าง 1.80 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 2.20 เมตร จำนวน 2 คัน ประกอบด้วยราวตากยาง 4 ชั้น ที่วางราวได้ 124 ท่อน (ราว 1 ท่อนตากยางได้ 3 แผ่น) รวมตากยางได้ 744 แผ่น
ส่วนสำคัญที่สุดของโรงอบก็คือ เตาเผา ซึ่งนางปรีดิ์เปรมบอกว่า เป็นเตาที่มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร สูง 0.80 เมตร ภายในปูด้วยอิฐทนความร้อนจนเต็มทุกด้าน ประตูเตาทำด้วยแผ่นเหล็กหนา 4 มิลลิเมตร เชื่อมติดกับวงกบ มีช่องหน้าต่างสำหรับเลื่อนปิดเปิด ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการสร้างโรงอบได้ 
 
          "หลังรีดยางแผ่นและผึ่งให้สะเด็ดน้ำราว 30 นาที ค่อยนำยางเข้าอบในโรงอบใช้เวลา 3 วันในวันมีแสงแดดจัดที่อุณหภูมิ 46-52 องศาเซลเซียส หากฝนตกจะใช้เวลาอบ 4 วัน โดยความร้อนที่ใช้อบ ไม่ควรเกิน 50 องศาเซลเซียส เพราะจะได้ยางแผ่นสีสวย มีปริมาณความชื้นต่ำกว่า 1% และไม่ขึ้นรา จัดเป็นยางแผ่นคุณภาพดี สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีได้ และเป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป"   

          ทั้งนี้ โรงอบยางแผ่นขนาดความจุ 744 แผ่น เหมาะสำหรับชาวสวนยางที่มีพื้นที่ 75-100 ไร่ โดยสามารถนำยางเข้าอบเฉลี่ยวันละ 248 แผ่น ซึ่งจะผลิตยางแผ่นอบแห้งได้ปีละ 29,760 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายจะสูงกว่ายางแผ่นดิบเฉลี่ย 2.38 บาทต่กิอโลกรัม ใน 1 ปีจะมีมูลค่าเพิ่ม 70,828.80 บาท และคุ้มทุนภายใน 1.3-1.7 ปี 
 
          “ปัจจุบันกรมมีโรงอบยางแผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โรง ที่ศูนย์วิจัยยางสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยยางหนองคาย ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เป็นต้นแบบ เป็นแนวทางปรับปรุงพัฒนาการผลิตยางแผ่นดิบให้ได้ยางแผ่นอบแห้งที่มีคุณภาพ เมื่อนำไปจำหน่ายจะได้ราคาสูงเทียบเท่ากับยางแผ่นคุณภาพชั้น 1”
 
          เกษตรกรท่านใดสนใจ โรงอบยาง นี้ อีกหนึ่งงานวิจัยชิ้นโบแดงของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2553 ประเภทงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้น สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิจัยยางสงขลา โทร.0-7458-6725-30 ในวันเวลาราชการ