
เปิดศึกจักรยานไร้คนขี่ซิ่งได้ไม่ล้ม
สนามประลองความเร็วของจักรยานหุ่นยนต์เปิดรับสมัครแล้ว กติกาง่ายๆ เพียง "สองล้อไร้คนขี่ วิ่งได้โดยไม่ล้ม" คันไหนไปได้ไกลสุด ทรงตัวอยู่ได้นานสุด รับไปเลยเงินรางวัล 1.5 แสนบาท
หุ่นยนต์ขี่จักรยานที่ทั่วโลกรู้จักเป็นผลงานของบริษัทเอกชนในญี่ปุ่น ประเทศเจ้าแห่งเทคโนโลยี มีชื่อว่า มูราตะบอย เปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรกเมื่อปี 2549 และตามมาด้วย มูราตะเกิร์ล หุ่นยนต์ขี่จักรยานตัวที่สอง ซึ่งเลียนแบบเด็กหญิงวัยอนุบาล น้ำหนัก 5 กิโลกรัม สูง 50 เซนติเมตร ขนาดใกล้เคียงกับหุ่นยนต์รุ่นพี่ แต่ความสามารถมากกว่า
มูราตะเกิร์ล มีเพียงล้อเดียวทำความเร็วได้มากกว่า มีไหวพริบในการคำนวณและเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า แถมยังติดตั้งกล้องในตัวสำหรับบันทึกและส่งเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
วิศวกรจากมูราตะ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ทั้งสอง บอกว่า สิ่งประดิษฐ์สมองกลทั้งสองนี้ ถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปใช้อุตสาหกรรม ให้ความเพลิดเพลินและส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของชาติ
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย สถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยี เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นต้น ต่างพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีตัวหุ่นนักซิ่ง มีแค่ตัวจักรยานสองล้อพร้อมด้วยอุปกรณ์ควบคุมการทรงตัว และมีความสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าโดยไม่ล้มโดยใช้การควบคุมทางพลศาสตร์
เมื่อหลายสถาบันต่างมีจักรยานหุ่นยนต์เหมือนกัน ก็ถึงเวลาที่ต้องประชันความสามารถในสนามแข่ง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิตนักศึกษา และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป พร้อมทั้งเฟ้นหาสุดยอดฝีมือทางด้านนี้
รศ.มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 (ไบซี่โรโบ) กล่าวว่า ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสร้างจักรยานหุ่นยนต์ขนาดไม่เกิน 1 เมตร ที่สามารถทรงตัวอยู่บนล้อทั้งสองได้โดยไม่มีอุปกรณ์ค้ำยัน และอาศัยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอ.ไอ. ควบคุมให้หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติ สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางจากสภาพพื้นผิวถนนและแรงลม รวมถึงมีระบบหยุดรถในกรณีฉุกเฉิน
ไทยเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มจัดการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งมีทีมเยาวชนลงสนามแข่งถึง 24 ทีม และทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือคว้าแชมป์ไปครอง
"ผมมั่นใจในศักยภาพของเยาวชนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติอื่น ฉะนั้นสนามแข่งปี 2 จึงเปิดกว้างให้ทีมจากต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขันด้วย แต่จำกัดไว้ไม่เกิน 4 ทีม ซึ่งอยู่ระหว่างรอการตอบรับจากเครือข่ายนักวิจัยด้านพลศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์" รศ.มนูกิจ กล่าว
ส่วนความเร็วของหุ่นยนต์น่าจะเข้าสู่เส้นชัยได้ด้วยความเร็ว 4-5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่ล้ม ขณะที่ความเร็วในการแข่งขันครั้งแรกทำได้ 2-3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นที่สนามบางกอก เรชชิ่ง เซอร์กิต ถนนศรีนครินทร์ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสามารถส่งรายงานการออกแบบจักรยานหุ่นยนต์ ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trs.or.th
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา