ไลฟ์สไตล์

แรงบันดาลใจที่ส่งผลต่องานสร้างสรรค์

แรงบันดาลใจที่ส่งผลต่องานสร้างสรรค์

16 ก.ค. 2554

แม้จะเริ่มมีแรงบันดาลใจมากมายก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้ามีแต่เพียง “แรงบันดาลใจ”

            แต่ “แรงบันดาลใจ” จะต้องเป็นแรงส่งให้ “เกิด” ผลงานขับเคลื่อน ให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน และสามารถเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างสรรค์โครงการทุกมิติ โดยจะไม่ส่งผลเพียงแค่ความงามหรือรูปลักษณ์ภายนอก แต่จะต้องส่งความลึกสู่ภายใน, พฤติกรรมผู้บริโภค, ต้นทุน, การตลาด และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ

             ผลแห่งการค้นหาวัตถุดิบทางปัญญาจนส่งผลสู่แรงบันดาลใจ และส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานที่ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องสามารถเห็นผลชัดเจนในหลักวิทยาศาสตร์ เช่น มีผลต่อความเชื่อมั่นองค์กรมากขึ้น, มีผลต่อความประทับใจจนเกิดลูกค้าประเภท “ภักดี” ต่อองค์กรร้านค้ามากขึ้น หรือส่งผลต่อความสะดวกสบายและเกิดความสุขทุกครั้งเมื่อกลับบ้าน ในกรณีที่พักอาศัยเกิดสภาวะ “น่าสบาย” ที่มีความ “อยู่สบาย”

             วัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ผมได้นำมาใช้และพัฒนา คลี่คลายเป็นผลงานออกแบบที่สวยงาม และสามารถลงลึกในรายละเอียดได้นั้น มีที่มาจากแหล่งข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งข้อมูลนั้นจะต้องมีเสน่ห์ มีรายละเอียดบางอย่างที่งดงาม มีองค์ประกอบ สัดส่วนที่ดี และจะต้องรู้จักดึงมาใช้อย่างชาญฉลาด มองเห็นความงามจนเห็นสุนทรียภาพเพื่อนำมาใช้งานได้

             ขั้นตอนที่สำคัญของผม คือ การถ่ายภาพแล้วนำภาพต่างๆ มาเลือกเฟ้นหาความงดงามจากมุมกล้อง ซึ่งต้องอาศัยสายตาพิเศษในการเลือกภาพเพื่อนำมาใช้งาน และถือเป็นแรงบันดาลใจที่ได้จากความขลังและความงดงามของต้นแบบ

            1. วัฒนธรรม ศิลปะและหัตถกรรม

             ทุกชนชาติ ทุกประเทศ ทุกสังคมต่างมีรายละเอียดด้านประวัติศาสตร์มหาศาล ถ้าค้นกันไปจริงๆ จะเห็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างก็มีเสน่ห์ทางวัฒนธรรม จนถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะและหัตถกรรมมากมาย และถ้าเราค้นคว้าดูกันให้ละเอียดจริงๆ เราจะเห็นความบริสุทธิ์ ความจริงใจในการถ่ายทอดผลงาน ซึ่งหลายๆ แหล่งเกิดจากความเชื่อ ความศรัทธาแล้วถ่ายทอดออกมาอยู่ในรูปของศิลปะประเพณี หลายๆ ชุมชนถ่ายทอดจากพฤติกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การค้าขาย รากเหง้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้สามารถคลี่คลายเป็นผลงานออกแบบมากมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ครับ

             1) รูปแบบ รูปร่าง รูปทรง คือ ต้นน้ำที่สามารถนำองค์ประกอบเดิมมาใช้ได้หลากหลายมากมาย แต่จะต้องสามารถพัฒนาต่อยอดได้ หรือ ตัดทอนนำมาใช้เฉพาะความงามในองค์ประกอบศิลป์ของรูปร่างจริงๆ

             โดยปกติผมจะนำมาตัดทอนให้เหลือความงาม สัจจะคือ น้อยลงกว่าเดิมเหลือแต่เนื้อแท้ แล้วนำมาพัฒนาคลี่คลายต่อ โดยจะเลือกใช้จากความเหมาะสมระหว่างศิลปะ, หัตถกรรมและผลงานสร้างสรรค์ใหม่

             2) สีสัน ต้นกำเนิดโครงการที่มีสีสันสวยงามหลายครั้งได้ต้นน้ำมาจากสีของหัตถกรรม การคัดกลุ่มสีและเลือกใช้อย่างชาญฉลาด ทำให้ได้องค์ประกอบของสีที่สวยงาม เช่น สีของผ้าทอพื้นเมือง สีของอาหาร สีของพืชพันธุ์ที่นำมาใช้ในหัตถกรรม สีสันของประเพณีต่างๆ ของแต่ละศาสนา พิธีกรรมบางอย่างสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้

             3) วัสดุ การประยุกต์งานออกแบบจากหัตถกรรมหลายครั้งเกิดจากวัสดุ การรู้จักนำเนื้อหาของวัสดุมาใช้ในจังหวะที่สง่างามขึ้น ต่อยอดของเดิม แต่อาจจะสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดใหม่ รูปแบบใหม่ แพทเทิร์นใหม่ สามารถเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเดิมๆ ได้ด้วยไอเดีย และการสร้างสรรค์นั่นเอง

             4) เทคนิคในการตกแต่งและเทคนิคจากภูมิปัญญาท้องถิ่น  แรงบันดาลใจในหลายครั้งมาจากเทคนิคที่มีภูมิปัญญา ใช้ฝีมือเฉพาะทาง ลักษณะการประดิษฐ์ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชน สามารถนำเป็นหลักคิดของการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ หรือนำเทคนิคมาต่อยอด เช่น นำศิลปะช่างสิบหมู่ของไทย สังเกตและศึกษาเทคนิคการขึ้นรูป เทคนิคการทอ เทคนิคการปั้น เทคนิคการแกะสลัก เทคนิคการสานหัตถกรรมแล้วนำเนื้อหาเหล่านี้มาต่อยอดเป็นศิลปะร่วมสมัยแนวใหม่ แล้วใช้เทคโนโลยีส่งเสริมให้งดงามขึ้น

             2. สถาปัตยกรรมอดีต

             การค้นคว้าหาข้อมูลจากสถาปัตยกรรมเดิมๆ เป็นเสน่ห์ที่สามารถนำมาต่อยอดทางความคิดได้อย่างมากมายมหาศาล เพราะสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา อิทธิพลต่างๆ ที่มีผลต่อการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในอดีต หลักฐานทางโบราณคดีบางอย่างสามารถดึงมาใช้ให้เป็นผลดีต่องานออกแบบในปัจจุบันได้ เนื้อหาสาระของสถาปัตยกรรมอดีตที่มีคุณค่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในรายละเอียดดังนี้ครับ

             2.1 ประวัติความเป็นมา เนื้อหาทางโบราณคดีนำมาใช้ในการออกแบบมากมาย โดยเฉพาะงานสร้างสรรค์ที่ต้องอิงสภาพแวดล้อม และที่ตั้งโครงการ เช่น โรงแรม, รีสอร์ท, พิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถดึงเอาประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมในอดีตมาใช้แล้วประยุกต์ให้ร่วมสมัย บางแห่งอาจจะจำลองประวัติศาสตร์บางยุคเข้ามาใช้ในการออกแบบสภาพแวดล้อมให้ดูมีมนต์ขลังก็เป็นไปได้ โดยมีหลักคิดด้านสุนทรียภาพที่งดงาม

             2.2 รูปแบบเฉพาะ สถาปัตยกรรมหลายแห่งต่างมีสไตล์เฉพาะตัวอันเกิดจากช่วงสมัยที่อาคารเหล่านั้นสร้างสรรค์ขึ้นมา ผู้ออกแบบที่มีวิสัยทัศน์ สามารถดึงลักษณะเฉพาะเข้ามาใช้อย่างกลมกล่อมและสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้มีเสน่ห์ มีเรื่องราว มีเรื่องเล่า มีประวัติจนเกิดเป็นผลงานร่วมสมัยที่ทรงคุณค่าในที่สุด

             2.3 ความงดงามของอาคาร และองค์ประกอบศิลป์  สัดส่วนที่สวยงามบางครั้งเกิดจากการศึกษาองค์ประกอบศิลป์ที่ลงตัวในอดีต เช่น ความงามของสถาปัตยกรรมกรีซที่ลงตัว สัดส่วนของเสา และเฟรมประตูหน้าต่างมาประยุกต์ โดยใช้สัดส่วนเดิมแต่ปรับวัสดุให้ทันสมัยขึ้น ในลักษณะโมเดิร์นคลาสสิก การศึกษาความงดงามของสถาปัตยกรรมไทย หรือ อาคารในแถวเอเชียอาคเนย์ และประยุกต์ให้สามารถนำมาใช้ในแนวทางร่วมสมัยก็เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่ว่าง (SPACE) ที่งดงามจนเกิดเป็นผลงานร่วมสมัยที่มีเสน่ห์ที่สุดอย่างอย่างหนึ่ง

             2.4 รายละเอียดสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การค้นคว้าและศึกษาเนื้อหาสาระที่งดงามของสถาปัตยกรรมที่ลงลึก สามารถนำมาใช้ได้สวยงามและร่วมสมัย เช่น รายละเอียดของปูนปั้น รายละเอียดของผนัง รายละเอียดของเทคนิคการใช้สี รายละเอียดศิลปะประกอบอาคารลายฉลุ ขอบคิ้วตกแต่ง ตลอดจนศิลปะตกแต่งภายใน สามารถนำมาใช้ในการออกแบบร่วมสมัยที่มีบรรยากาศ หรืออาจจะเป็นผลงานที่จำลองความงดงามของอาคารเก่ามาใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

             ทั้งวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรม และสถาปัตยกรรม จึงมีความสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ที่นักออกแบบควรใส่ใจศึกษา โครงการที่มีเสน่ห์จึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์โครงการอย่างมีที่มาที่ไป แม้จะเป็นโครงการใหม่แกะกล่องก็ควรจะมีรากฐานที่อ้างอิง บูรณาการอดีตและปัจจุบันร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ผลงานก็จะมีคุณภาพและมีคุณค่ามากที่สุด ท่านใดสนใจร่วมสนทนากับ อ.เอก สามารถพูดคุยได้ที่ www.facebook.com/akekapong > treetrong รักในหลวง แอทเข้ามาเป็นเพื่อน และสามารถติดต่อขอคำปรึกษาด้านการออกแบบได้ที่ โทร.0-2984-0091-2 หรือ 08-6331-7433 แล้วพบกันครับ

อ.เอกพงษ์ ตรีตรง
www.ideal1group.com