
ครม.เบรคสพฐ.ของบกว่า2.3หมื่นล้าน
ครม.โยนสำนัก"เลขาฯครม.-กฤษฎีกา"ให้ความเห็นจัดงบเพิ่มให้สพฐ.กว่า 2.3 หมื่นล้าน ก่อนเสนอเรื่องเข้า ก.คลัง ด้านเลขาฯครม.เผยควรชะลอเรื่องให้ครม.ใหม่ชี้ขาด หวั่นกระทบระบบราชการ งบประมาณแผ่นดิน
(12ก.ค.) นายมารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เสนอให้นำการขออนุมัติงบประมาณกลางปี 54 จากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง วงเงิน 23,035.02 ล้านบาท เพื่อสมทบงบบุคคลากร เงินเดือน ในเดือนก.ย.,ส.ค.54 ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเพราะ ครม.ชุดนี้อยู่ในช่วงรักษาการ ไม่สามารถอนุมัติโครงการหรืองบประมาณใดๆ ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบกลางที่ต้องเบิกจากสำนักงบประมาณ เนื่องจากสพฐ.มีงบประมาณไม่เพียงพอในการใช้จ่าย เนื่องจากรายจ่ายของสพฐ.เพิ่มขึ้น คือ ครม.ได้มีการอนุมัติให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5% ส่งผลให้งบประมาณค่าเงินเดือนเพิ่มขึ้น 4,195.6 ล้านบาท เงินเดือนประจำ 6,366.40 ล้านบาท ค่าจ้างประจำที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอการเบิกจ่าย 339.59 ล้านบาท เลื่อนเงินเดือน และการปรับวุฒิ 6,596.988 ล้านบาท แต่สพฐ.มีเงินจ่าย 2,953.64 ล้านบาทส่งผลให้ยังขาดเงินอยู่ 3,643.348 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีการเลื่อนเงินเดือนภายในอีก 8 % จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายประจำสำหรับงบประมาณ 54 เพิ่มขึ้นอีก 5,563.404 ล้านบาท
อีกทั้ง ในที่ประชุม ครม. นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงว่า กรมบัญชีกลาง มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ก.ค.ศ. ว่า การที่ ก.ค.ศ.ปรับเงินเดือนให้ข้าราชการ 8 % และครม.ยังมีการปรับเพิ่มให้อีก 5 % ส่งผลให้เงินเดือนข้าราชการครูและลูกจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 13 % ซึ่งเกินกว่าอัตราที่ครม.อนุมัติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับข้าราชการประเภทต่างๆ อีกทั้งข้าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้มีการตั้ง งบประมาณปี 54 รองรับไว้แต่อย่างใด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า เรื่องการขึ้นเงินเดือน 8 % ก.ค.ศ. ต้องชี้แจง โดยให้ความเห็นจาก ขอสำนักเลขาครม. และสำนักกฤษฎีกา ก่อนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป
ด้านความเห็นของ นายอำพน กิตติอำพน เลขาฯ ครม. เสนอความเห็นสอดคล้องกับกฤษฎีกาว่า ให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอกลับไปยัง กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสนอครม.ชุดใหม่ พิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการและงบประมาณแผ่นดิน
“ชินวรณ์แจงรอบปี54ขึ้นเงินเดือนใหญ่หลายครั้ง
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติทิ้งทวนท้ายสุดตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เสนอขอใช้งบกลางปี 2554 รายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือขอใช้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการปรับบัญชีเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนรายเดือนบุคลากรภาครัฐในอัตราร้อยละ 5 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2553 จำนวน 23,035 บาท เพื่อนำมาใช้รองรับการปรับเพิ่มเงินเดือน ค่าตอบแทนให้ข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กว่า 500,000 คน
นายชินวรณ์ กล่าวว่า งบเงินเดือนประจำปี 2554 ที่สพฐ.เหลืออยู่นั้น ไม่พอจ่ายจนถึงสิ้นปีงบประมาณ เพราะลในรอบปีนี้ มีการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและบุคคลากรในสังกัดหลายกรณี เริ่มตั้งแต่มติ ครม. 16 ส.ค. 53 ที่เห็นชอบให้ปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่มร้อยละ 5 มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2554 นั้น มีผลให้ข้าราชการสังกัด สพฐ.อยู่ในข่ายนี้จำนวน 448,570 คน ลูกจ้างประจำ 30,727 คน และพนักงานราชการ 22,652 คน ซึ่งต้องใช้เงินรองรับทั้งหมด 4,195.63 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในปี 2554 นี้ มีการประกาศใช้บัญชีเงินเดือนครูใหม่ ตาม พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2554 มีผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 435,464 คน ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนอีกร้อยละ 8 ตั้งแต่ 31 มี.ค. 2554 ต้องใช้งบประมาณรองรับทั้งสิ้น 5,563.40 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้ตั้งบประมาณ54 รองรับไว้ นอกจากนั้น ยังมีข้าราชการที่ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2554 และต้องใช้เงินรองรับทั้งสิ้น 6,596.98 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น ศธ.จึงต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 23,035 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือน 2 เดือน สุดท้าย คือ สิงหาคมและกันยายน ให้ทุกคนได้รับเงินครบถ้วน ซึ่ง ครม.ก็เห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอขอ ทั้งนี้ เพราะครม. โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญของการศึกษา ต้องการให้ครูมีขวัญกำลังใจ ไม่ต้องคอยมากังวลว่า การขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนจะเกิดการสะดุดเพราะขาดแคลนงบประมาณ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้ง กำหนดให้ การอนุมัติงบประมาณ และการแต่งตั้งข้าราชการ ต้องส่งเรื่องให้ คณะกรรมการเลือกตั้ง พิจารณาก่อน เพราะฉะนั้น หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ศธ.จะส่งเรื่องไปยัง กตต.ต่อไป