
ลุงแจ่มระวังภัย สั่งห้ามขาย ลูกบ๊วย ปลาแม่น้ำญี่ปุ่น เปื้อนรังสี
จากการติดตามเรื่องความปลอดภัยของอาหารในญี่ปุ่น สถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รายงานว่า การตรวจการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2554 รวม 144 รายการ พบว่า
บ๊วย จาก เมืองโคริ จังหวัดฟูกูชิมะ มีระดับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีเกินกำหนด ได้สั่งห้ามจำหน่วยผลิตภัณท์แล้ว นอกจากนั้นยังมีคำสั่ง ห้ามจำหน่ายปลา Cherry Salmon Yamane (ยกเว้นปลาเพาะเลี้ยง) และปลา Ugui (Japanese dace) ที่จับในแม่น้ำมาโนะ จ.ฟูกูชิมะ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป
ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 มีรายงานสถิติผู้เสียชีวิตรวม 15,467 ราย สูญหาย 7,482 ราย จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น และเกิดอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) ระหว่างวันที่ 11-20 มิถุนายน 2554 องค์กรอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้รายงานการเกิด อาฟเตอร์ช็อก ระดับ 3-5 ริกเตอร์ ในบริเวณต่างๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งภาคกลางตอนใต้ของญี่ปุ่น ได้แก่ ฮอกไกโด อิวาเตะ อาคิตะ ฟูกูชิมะ มิยากิ ยามากาตะ โทจิกิ กิฟุ ชิมาเนะ อาโอโมริ ชิบะ และอิบารากิ โดยยังไม่มีรายงานสึนามิและความเสียหายจากการเกิด อาฟเตอร์ช็อก ดังกล่าว
รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ 1 (ฟูกูชิมะ ไดอิฉิ) ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) เริ่มดำเนินการบำบัดน้ำปนเปื้อนในเตาปฏิกรณ์หมายหมายเลข 2 และ 3 ซึ่งสถาพการณ์เป็นไปด้วยดี ในส่วนของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 มีการฉีดน้ำเข้าสู่ถังเก็บเชื้อเพลิงและบ่อ (well) ของเตาปฏิกรณ์เพื่อลดระดับความร้อนภายในเตา และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในตัวอาคารได้
สำหรับระดับกัมมันตรังสี ณ ประตูตะวันตกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ 1 อยู่ที่ 31.5 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. และลดลงเหลือ 28.9 ไมโครซีเวิร์ต/ชม.
ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยระดับกัมมันตรังสีที่โตเกียวอยู่ที่ 0.071 ไมโครซีเวิร์ต/ชม.
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ