
แกะรอยอีสานตำนานแซบอีหลี
ไผว่าอีสานแล้งอยากจูงแขนเขาไปเบิ่ง ข้าวกะอยู่เต็มนา ปลากะอยู่เต็มน้ำ มันจะแล้งอยู่จั่งได๋ ใครๆ ก็ว่าอีสานแห้งแล้งแต่ภาษิตโบราณประโยคนี้ ช่วยบอกเล่ากับชาวต่างถิ่นว่า ดินแดนที่ราบสูงนี้มีทั้งข้าวทั้งปลาเต็มนาเต็มน้ำ ขณะเดียวกันก็ยังมีผักพื้นบ้านให้เก็บกิ
ภายในกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตท้องถิ่นอีสาน อย่างการปลูกผักสวนครัวและสมุนไพรชั้นดี เช่น พริก ผักกาด มะละกอ กล้วย ขิง ข่า มะกูด ผักขา (ชะอม) หอมเป (ผักชีฝรั่ง) หัวสิงไค (ตะไคร้) ผักอีหล่า (สาระแหน่) ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารต้านโรคที่มักจะมีปลูกกันทุกครัวเรือน รวมถึงการลงแรงเก็บผักเพื่อนำไปปรุงกับเมนูอีสานชั้นเลิศ ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายท้องไร่ท้องนา และการศึกษาวิธีปลูกผักแบบออแกนิกส์หรือที่รู้จักกันในชื่อเกษตรอินทรีย์ พืชไร้สารพิษอีกด้วย
และเพื่อให้ตรงตามแนวคิดของกิจกรรมที่ได้ชื่อว่า “ลุยแปลงผักพื้นบ้าน เปิบอาหารแซ่บอหลี” ผู้นำโครงการ ชุติมา ดำสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้ท้าสื่อมวลชนประลองฝีมือปรุงอาหารเมนูพื้นบ้านฉายา “ต้มไก่ยอดหม่อน” ซึ่งผู้นำโครงการเล่าว่า ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวอีสานจะใช้ “ยอดหม่อน” เพิ่มรสชาติอาหาร หรือจะเรียกว่า "ผงชูรส" ของชาวอีสานก็ว่าได้
ขณะที่ อรทัย เหรียญทิพยะสกุล อาจารย์ประจำคุณของคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยรังสิต กูรูทางด้านโภชนาการ ก็มาเล่าถึงสรรพคุณของ "ต้นหม่อน" เพิ่มอีกว่า โดยแท้จริงแล้วนอกจากจะเป็นอาหารของหนอนไหม อันนำไปสู่การสร้างรังไหมสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทอผ้า ต้นไม้ชนิดนี้ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน คือ ยอด ช่วยในการบำรุงสายตา ใบ นำมาทำชาช่วยลดปริมาณคอลเรสเตอรอลและความดันโลหิต ผล สามารถรักษาโรคไขข้อและบำรุงหัวใจได้ และ กิ่ง หากนำมาแปรรูปสามารถทานเพื่อรักษาอาการเหน็บชาและช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีอีกซะด้วย
แซบอีสานแท้ยังมีอีกหลากหลายจาน เมื่อเชฟฝีมือดีลูกข้าวเหนียวแท้ๆ "หมู" โชคชัย แสนสีมนต์ ประจำจิมทอมป์สัน เรสเตอรองค์ ลงมือโชว์รสมือพร้อมบรรยายสรรพคุณไปในคราวเดียวกัน อย่าง ซุปบักมี่ หรือ ซุปขนุน มีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหารและบำรุงสายตา แจ่วบอง น้ำพริกคู่ครัวอีสาน มี "ปลาร้า" เป็นวัตุดิบหลัก ให้แคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูก อ่อมหอย ซึ่งมีใบชะพลูและผักหวานเป็นไฮไลน์หลัก เริ่มจาก "ชะพลู" มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ และมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก ส่วน "ผักหวาน" อุดมด้วยวิตามินซี มีโปรตีนสูงและหาง่ายตามห้วย หนอง คลอง บึง
นอกจากกิจกรรมนี้แล้ว ด้วยพื้นที่ถึง 3,000 ไร่ ยังมีมุมต่างๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับแหล่งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น อย่างหมู่บ้านอีสานที่ปัจจุบันสูญหายไปกับกาลเวลา อาทิ เฮือนโคราช เฮือนภูไท เฮือนโข่ง เป็นต้น ที่ไม่เพียงแม้แต่จะคงไว้ด้วยความสวยงาม บริเวณของเฮือนแต่ละหลัง ยังคงไว้ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำมาหากิน สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พอเพียง และสามารถปรับตัวอยู่กับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบประเพณี และอารยธรรมอัดงดงาม มิใช่เป็นเพียงพื้นดินแห้งแล้งที่ไร้ค่าอย่างที่หลายๆ คนใจผิด
กิจกรรม คืนถิ่นอีสานฯ นี้ เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้น โดยสำนึกในคุณค่าของประเพณีและวัฒนธรรมอีสานอันเก่าแก่ หากได้มาสัมผัสกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่น และภูมิปัญญาที่ล้ำคุณค่าด้วยตัวเองคงจะทำให้ผู้ที่มีโอกาสไปเยือนหลงรักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื่อว่าอีสานไม่ได้เป็นผืนดินแห้งแล้งอย่างที่คิด ยิ่งด้วยมีอาหารรสเลิศที่เป็นเอกลักษณ์จนทำให้คนทั่วโลกติดอกติดใจ ก็ยิ่งจะทำให้ถิ่นปลาแดกไม่ถูกลืมเลือนไปจากใจของคนไทย
แล้วเจ้าซิฮู้ว่า...บ้านเฮามีแต่แนวแซบอีหลีเด้อ !
เรื่อง/ภาพ : พัชราภรณ์ พลายงาม / พชรมน พรมลังกา