
ไม่สู้งาน-อ่อนภาษาจุดอ่อน!!บัณฑิตรุ่นใหม่
ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทุกระดับการศึกษาประมาณ 3 แสนคนขณะเดียวกันก็มีผู้ว่างงานกว่า 2.1 แสนคน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ว่างงานมีงานทำและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ภายใต้คอนเซ็ปต์ "คนได้งาน งานได้คน
ดังนั้น กรมการจัดการงาน (กกจ.) กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับบริษัทซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และฟอร์จูนทาวน์ จัดงาน e-JOB Expo 2011@ Fortune Town ขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมี นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกกจ.และ นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดงาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่างงานนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ว่างงานจบการศึกษาไม่ตรงกับตำแหน่งงานว่าง อีกทั้งยังมีความรู้ ความสามารถไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการซึ่งจากมุมมองของตัวแทนสถานประกอบการที่มาร่วมเปิดบูธรับสมัครงานครั้งนี้อย่าง "พี่กระต่าย" ณคณา ณ ลำพูน รองผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เห็นว่า บัณฑิตปริญญาตรีรุ่นใหม่มีจุดเด่นที่เรียนรู้เร็วและเก่งไอที แต่จุดอ่อนในเรื่องทักษะการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยเฉพาะภาษาไทยนั้นเด็กรุ่นใหม่ร่างหนังสือที่ใช้ภาษาทางการไม่เป็นคงเพราะเด็กรุ่นใหม่อยู่ในโลกออนไลน์ติดการใช้ศัพท์สแลงคุยกัน
”เด็กรุ่นใหม่ขาดความอดทนและคุณธรรม จริยธรรม เดี๋ยวนี้กิจกรรมของสถาบันการศึกษาที่ปลูกฝังเรื่องเหล่านี้หดหายไปเพราะไปเน้นเทคนิคการทำงานมากกว่า อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่เก่งและอยากก้าวหน้าเร็ว แต่ไม่เข้าใจว่าต้องทำงานพื้นฐานก่อน เพื่อต่อยอดไปสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะต้องมองภาพรวมของงานทั้งหมดออกเรียกว่าต้องยอมเหนื่อยตั้งแต่ต้นปูพื้นฐานงานให้แน่นเพื่อสะสมความรู้และประสบการณ์ค่อยๆ ก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับอยากให้สถาบันการศึกษาปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งภาษาก็สำคัญตอนนี้ถ้าให้ดีควรรู้ 3 ภาษาทั้งภาษาไทย อังกฤษและภาษาอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น” พี่กระต่ายแนะ
"พี่สุ" สุภาพร พลายแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลบริษัท อิตัลไทย เทรวี่ จำกัด มองว่า เด็กรุ่นใหม่มีความรู้พื้นฐานดี แต่อ่อนภาษาอังกฤษและการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาในงานทำให้ไม่กล้าคิดกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะเช่น งานด้านวิศวกรรมโยธาซึ่งบางกรณีจำเป็นต้องกล้าตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่กล้าเพราะคิดวิเคราะห์ไม่เป็นและอ่อนประสบการณ์ จึงอยากให้มหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ เปิดคอร์สเล็กๆ อบรมนักศึกษาวิศวะเช่น ตั้งโจทย์งานวิศวกรรมโยธาที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อฝึกให้กล้าตัดสินใจแก้ปัญหาและมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำ รวมทั้งฝึกนักศึกษาอาชีวะสายช่างระดับปวช.และปวส.ให้รู้จักใช้เครื่องมือและเครื่องจักสมัยใหม่ในสถานประกอบการ
สอดรับกับ "พี่เล็ก" อภิชา สรหงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า บัณฑิตปริญญาตรีรุ่นใหม่เก่งแต่อ่อนภาษาอังกฤษ ขาดความอดทน ความรับผิดชอบในการทำงานและขาดทักษะการนำเสนองานและไม่กล้าแสดงออกเช่น ไม่กล้านำเสนองานในที่ประชุม อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่เอาใจยาก เลือกเยอะเวลาสมัครงานมักจะถามว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ และไม่มีความรักองค์กร ทำให้เปลี่ยนงานบ่อย
”เด็กเดี๋ยวนี้เก่งแต่เพิ่งจบก็อยากได้เงินเดือนสูงๆ แล้วต่างจากคนสมัยก่อนที่เริ่มต้นจะถามว่ามีงานอะไรให้ทำบ้าง บางคนอดทน สู้งานอยู่ที่เดียวนาน 30-40 ปีเติบโตเป็นผู้บริหารและได้เงินเดือนสูง ดังนั้น สถาบันการศึกษาจะต้องปลูกฝังเรื่องความอดทน ความรับผิดชอบ ความกล้าแสดงออกและทักษะนำเสนองานในที่ประชุม รวมทั้งเรื่องบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ให้แก่นักศึกษา” พี่เล็กฝากถึงสถาบันการศึกษา
"น้องแอม" นริศรา ธนัทรุ่งเรือง ซึ่งเพิ่งจบปริญญาตรีในปีการศึกษา 2553 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (ฟู้ดไซน์) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏสวนดุสิตที่มาหางานทำในงานครั้งนี้บอกว่า โอกาสการมีงานทำนั้นขึ้นอยู่กับสาขาที่เลือกเรียนอย่างตนเองเลือกเรียนสาขาฟู้ดไซน์เพราะมองว่าหางานทำได้ง่าย
”แม้เคยผ่านการฝึกงานมาก่อน แต่ก็มีจุดอ่อนเรื่องทักษะการทำงานเพราะความรู้ที่เรียนมาเอาใช้จริงได้แค่ 50% ถ้าเข้าไปทำงานแล้วสัก 3-4 เดือนน่าจะเรียนรู้งานและปรับตัวได้ แต่ที่ต้องไปเรียนเพิ่มจริงๆ ก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษเพราะพอพูด ฟัง อ่าน และเขียนได้ แต่ยังใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควร” แอมบอกทิ้งท้าย
ธรรมรัช กิจฉลอง/เรื่อง
ประชาสัมพันธ์ กกจ./ภาพ