
ประหนึ่ง...ชีวิตคนบนผืนระนาด
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ผมไปงานพิธีไหว้ครูนักเรียนประจำปีของ โรงเรียนเทคนิคพาณิชยการอยุธยา ที่จ.พระนครศรีอยุธยา โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนที่ค่อนข้างใหญ่โตและหรูหรา มีสาธารณูประโภคครบครับอย่างเช่นที่จอดรถใต้ดิน ลิฟต์โดยสารในอาคารเรียน และก็มีการจัดการ
ในงานผมพบกับท่าน ดร.สมจิตร ศิริเสนา เจ้าของโรงเรียนแห่งนี้ ท่านเป็นสุภาพสตรีที่พูดคุยด้วยแล้วก็จะรู้สึกได้เลยว่า ท่านเป็นคนใจบุญและท่านก็มีจิตใจที่เมตตาต่อเด็กนักเรียนและคณะครูของท่าน โดยทุกๆ ปีก็จะมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนที่เรียนดีและมีฐานะยากจนหรือแม้กระทั่งนักเรียนที่มีความสามารถทางกีฬาก็จะสนับสนุนให้ไปแข่งขันในที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงให้ทุนเรียนฟรีกับนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านกีฬา โดยเฉพาะกีฬาวอลเลย์บอลหญิงนักเรียนจะมีการเก็บตัวฝึกซ้อมกินนอนอยู่ที่โรงเรียน
จุดนี้แหละทำให้ผมนึกถึงโรงเรียนที่ผมเคยอยู่ก็คือ โรงเรียนวัดห้วยจระเข้วิทยาคม จ.นครปฐม ซึ่งที่นั่นก็จะเป็นศูนย์ฝึกกีฬาและมีนักเรียนที่ฝึกซ้อมกินนอนอยู่ในโรงเรียนเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ว่าทางของ ดร.สมจิต ศิริเสนา เจ้าของโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายการกินอยู่ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนวัดห้วยจรเข้ฯ ต้องบริหารการกินอยู่กันเอง จากการขายไอศกรีมหรือมีเงินมาบริจาคจากผู้ใจบุญบริเวณใกล้เคียง แถมในบางยุคผู้อำนวยการไม่มีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนนักกีฬาขายไอศกรีม ครูผู้ฝึกสอนที่เป็นหัวหน้าก็คือ อาจารย์มีชัย ปานอำพันธ์ ก็ต้องเอาสตางค์ส่วนตัวมาจุนเจืออาหารการกิน ซึ่งตัวผมเองในสมัยที่ยังเป็นครูอยู่ที่นั่นก็ยังเคยเอาข้าวสารมาให้อยู่เหมือนกัน แต่มาในช่วงระยะหลังนี้ก็ได้ข่าวว่าอาจารย์มีชัย ปานอำพันธ์เพื่อนรุ่นพี่ของผม ได้จับเอานักกีฬาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักกีฬากระโดดค้ำถ่อมาหัดเชิดสิงโต และก็ออกรับงานแสดงในที่ต่างๆ เอาสตางค์มาเข้ากองกลางเป็นค่าใช้จ่ายอาหารการกินให้แก่นักกีฬาที่เป็นนักเรียนที่นั่นได้อย่างไม่ต้องไปอ้อนวอนให้ใครคอยช่วยเหลือ ซึ่งจะว่าไปแล้วเขาก็เป็นข้าราชการครูของโรงเรียนคนหนึ่งก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมารับภาระอะไรอย่างนี้
แต่ทั้งหมดผมเองก็เข้าใจโดยง่าย เพราะมันเป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างครูกับนักเรียนและกีฬา ซึ่งอาจารย์มีชัย ปานอำพันธ์ทำตรงนี้มามากกว่า 20 ปีจนเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดห้วยจระเข้ฯ ติดทีมชาติไปหลายคนแถมยังได้ทำงานเป็นข้าราชการด้วยอาวุธที่อยู่ในมือก็คือไม้ค้ำถ่อนั่นเอง ซึ่งตรงนี้เหตุที่ผมคิดถึงนักกีฬาของโรงเรียนที่ผมเคยอยู่ก็เป็นเพราะว่าผมได้มาเห็นและได้พูดคุยกับนักกีฬาวอลเลย์บอลของโรงเรียนเทคนิคพาณิชการอยุธยาของท่าน ดร.สมจิตร นั่นเอง และก็ได้เห็นความแตกต่างของชีวิตนักกีฬาอย่างเห็นได้ชัด
ย้อนกลับไปที่โรงเรียนเทคนิคฯ อยุธยาในวันนั้นเป็นวันไหว้ครูประจำปีของโรงเรียนซึ่งนักเรียนก็จะเป็นสายช่างและพาณิชย์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับดนตรีไทยแม้แต่น้อยแต่ผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าไปแสดงเดี่ยวระนาดให้เด็กนักเรียนเกือบ 4,000 คนได้ชมกันหน้าเสาธงก่อนที่พิธีไหว้ครูจะเริ่มขึ้น และก็ยังได้มีการถ่ายทำวิดีโอในขณะที่ผมแสดงแบบเป็นจริงเป็นจังไม่ต่างอะไรกับการถ่ายทำภาพยนตร์ ชนิดที่เรียกว่า กล้องถ่ายภาพยนตร์ รถเครน แสง เสียง มาเต็มรูปแบบของการถ่ายทำ โดยเฉพาะตัวผมเองเล่นจริงไปแล้ว 1 รอบ และก็ต้องกลับมาเล่นซ้ำอีกเกือบ 10 รอบ เพื่อที่จะนำภาพที่ผมแสดงไปตัดต่อกับภาพพิธีไหว้ครูมาทำเป็นวิดีโอ โปรโมทโรงเรียนของท่านนั่นเอง
สิ่งที่แสดงถึงโรงเรียนเทคนิคพาณิชการอยุธยาได้บ่งบอกของการสนับสนุนความเป็นไทยทั้งๆ ที่ไม่มีการเรียนการสอนดนตรีไทย ก็คือการนำท่าน อาจารย์สำราญ เกิดผล ซึ่งท่านเป็นศิลปินแห่งชาติและครูสอนดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัด มานั่งเจิมหน้าและพรมน้ำมนต์ให้แก่นักเรียนที่มีความชื่นชอบในความเป็นไทยและเลื่อมใสในตัวของท่าน อาจารย์สำราญ เกิดผล มาอยู่ใกล้ๆ กับพิธีไหว้ ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่งในหมู่ของนักเรียนสายช่างสายพาณิชย์และท่าน ดร.สมจิตร ศิริเสนาก็ยังบอกกับผมว่าท่านทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว
ท้ายนี้ก่อนที่จะจากกันไปในฉบับนี้ผมก็ขอฝากภาพถ่ายฝีมือของผมเองจากกล้องโทรศัพท์ธรรมดาของผม ซึ่งในขณะที่หยุดการถ่ายทำผมก็ได้ถ่ายภาพนี้จากบนเวทีที่ผมแสดงลงมาด้านล่าง ซึ่งเป็นภาพที่ผมชอบและคิดว่าสวยมากก็เลยนำมาฝากให้แฟนๆ คอลัมน์ฯ ของผมได้ชมกันเล่นครับ และผมก็ได้ตั้งชื่อภาพนี้เอาไว้เป็นหัวคอลัมน์ว่า ประหนึ่ง ชีวิตคนบนผืนระนาด ซึ่งความหมายนั้นก็คือ การเปรียบเทียบชีวิตที่แตกต่างของนักเรียนนับพัน บนเสียงระนาดทีมีความหลากหลายร้อยลีลา นั่นเองแหละครับ......
"ขุนอิน"