
ว่าด้วยเรื่องเกียร์ออโต้ (2)
เกียร์ออโต้หรือเกียร์อัตโนมัติ ที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมจนถึงทุกวันนี้เป็นระบบส่งกำลังที่ทำงานด้วยแรงดันของน้ำมัน แรงดันที่ได้ก็มาจากการทำงานของเครื่องยนต์ (เหมือนการทำงานของปั๊มน้ำมันเครื่อง) มีส่วนประกอบหลักอยู่สามสี่อย่าง
เริ่มต้นกันที่ทอร์กคอนเวอร์เตอร์(Torque converter) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างแรงดันน้ำมันเกียร์ให้เกียร์ทำงาน ความสำคัญของทอร์กคอนเวอร์เตอร์นี้ทำให้เกียร์ออโต้ถูกช่างบางคนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเกียร์ทอร์ก
ทอร์กคอนเวอร์เตอร์ถูกสร้างด้วยเหล็กพิเศษที่ภายในบรรจุด้วยปั๊มน้ำมันที่ทำจากใบพัดสองใบหมุนสวนทางกันโดยมีน้ำมันเกียร์จำนวนหนึ่งบรรจุเอาไว้ในปริมาณที่ถูกกำหนดจากผู้ผลิต รูปทรงของทอร์กคอนเวอร์เตอร์มีลักษณะคล้ายกันกับผลฟักทอง ในศัพท์การเรียกหาอะไหล่ตัวนี้จึงมีบางคนเรียกว่าลูกฟักทอง
ทอร์ก หรือลูกทอร์ก หรือลูกฟักทอง ส่วนใหญ่แล้วจะมีอายุตลอดการใช้งานของเกียร์ชุดนั้นๆ แต่ก็มีบ้างที่ต้องเปลี่ยนต้องซ่อมก่อนถึงเวลาอันควร(ก็ขอยกไปในตอนการซ่อมดูแลบำรุงรักษาว่าทำไมต้องเปลี่ยน ทำไมต้องซ่อมและซ่อมอย่างไร) เมื่อเครื่องยนต์หมุนกลไกของทอร์กจะสร้างแรงดันให้เกิดขึ้นกับน้ำมันเกียร์ที่อยู่ในตัวทอร์ก แรงดันนั้นจะส่งไปในห้องเกียร์โดยผ่านตัวควบคุมแรงดันน้ำมันที่เรียกว่า Primary pump ปั๊มตัวนี้จะควบคุมแรงดันน้ำมันเกียร์ให้มีค่าคงที่ที่เกียร์ต้องการใช้ตลอดเวลา(เครื่องเบาทอร์กสร้างแรงดันน้อยเครื่องแรงดันสูง)แรงดันน้ำมันเกียร์ที่เกินความต้องการจะถูกปล่อยลงอ่างน้ำมันเกียร์
จากทอร์กคอนเวอร์เตอร์ผ่านปั๊มน้ำมันที่มีแรงดันจะถูกส่งเข้าไปยังหัวใจของเกียร์ที่ทำหน้าที่จ่ายน้ำมันเกียร์ไปยังจุดต่างๆ ทั้งการหล่อลื่น การบังคับให้ชิ้นส่วนอื่นทำงานรวมทั้งเป็นประตูให้น้ำมันเกียร์ผ่านออกไประบายความร้อนตามระบบ หัวใจของเกียร์ตัวนี้ช่างเรียกกันว่าสมองเกียร์ หรือ วาล์วบอดี้(Valve body) ซึ่งต่างจากสมองเกียร์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกที่ถูกเรียกว่า กล่องเกียร์ หรืออีซียู หรืออีซีเอ็ม หรือสมองไฟฟ้า Electric control unit or Electric control module แล้วแต่จะเรียกกัน
วาล์วบอดี้นี้เป็นหัวใจของเกียร์เพราะถ้าผ่าออกมาแล้วจะมีชิ้นส่วนเล็กน้อยมากมาย ทั้งวาล์ว สปริง ลูกสูบ ลูกปืนเม็ดเล็ก ฯลฯ และที่สำคัญคือ ช่องทางน้ำมันที่วกวน วนเวียนเหมือนเขาวงกต วาล์วบอดี้นี้เป็นเรื่องที่ช่างไม่ค่อยอยากแตะต้องเพราะเมื่อผ่าหรือรื้อออกมาแล้วมักจะประกอบคืนได้ไม่เหมือนเดิม (ชิ้นส่วนเล็กๆ หล่นหาย หรือใส่ชิ้นส่วนผิดที่ผิดทาง) แล้วก็อ้างว่าสมองเกียร์ (Valve body) เสียต้องเปลี่ยนใหม่(ราคาสูง) ซึ่งความจริงแล้วการรื้อหรือผ่าสมองเกียร์ก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนเหมือนกับรื้อชิ้นส่วนอื่นๆ เพียงแต่ต้องมีความละเอียดรอบคอบมากพอสมควร
สมองเกียร์ก็เช่นกัน มีวาระที่ต้องซ่อมต้องถอดล้างเปลี่ยนชิ้นส่วนย่อยตามอายุการใช้งาน ซึ่งผมจะไปพูดถึงอีกครั้งในตอนซ่อมบำรุง จากสมองเกียร์ก็เป็นชิ้นส่วนที่เป็นกลไกในเกียร์ที่บังคับด้วยแรงดันน้ำมัน บังคับด้วยระบบไฟฟ้า(ในรุ่นที่ใหม่ขึ้นมา)และบังคับด้วยกลไกในชุดของห้องเกียร์นี้ก็จะมีผ้าคลัตช์แผ่นเหล็กฟันเฟืองกระจายอยู่เป็นชุดๆ ตามจำนวนของอัตราทดเกียร์เช่นชุดเกียร์หนึ่งก็จะมีแผ่นเหล็กและแผ่นคลัตช์จำนวนหนึ่ง จำนวนแผ่นคลัตช์ แผ่นเหล็กและขนาดความหนาความโตของผ้าคลัตช์แผ่นเหล็กในแต่ละชุดจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละยี่ห้อ ถ้าเกียร์รุ่นนั้นมีจังหวะเกียร์มากเช่นห้า หรือหกเกียร์เดินหน้า จำนวนชุดคลัตช์รวมถึงผ้าคลัตช์และแผ่นเหล็กก็จะมากตาม นั่นก็เป็นปัญหาของผู้ผลิตในเรื่องของอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง(กินน้ำมัน)เพราะมากเกียร์มากจังหวะตัวเกียร์ก็จะใหญ่ขึ้นน้ำหนักมากขึ้น แม้ว่าความมากนั้นจะทำให้ได้อัตราทดเกียร์ที่ดีและต่อเนื่อง
ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบย่อยๆ ที่จะทำให้เกียร์ทำงานได้ก็เช่นสายคันเกียร์ คันเข้าเกียร์ ซึ่งในปัจจุบันรุ่นใหม่ๆ จะถูกเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า(สวิตช์ โซลินอยด์)ไปบ้างแล้ว
ส่วนประกอบหลักที่สำคัญที่มองข้ามและหลงลืมไม่ได้ก็คือน้ำมันเกียร์(Automatic Transmission Fluid ATF) ซึ่งก็มีเรื่องราวให้พูดถึงกันมากพอสมควร เพราะน้ำมันเกียร์คือเส้นเลือดของเกียร์ สำหรับเรื่องของน้ำมันเกียร์ขออนุญาตยกยอดไปตอนต่อๆ ไป