
"เรือกอและจำลอง"ฝีมือเด็กบ้านทอน ถ่ายทอดลายพื้นเมืองผสมวิถีมุสลิม
การสร้างจุดขายให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่จดจำและง่ายต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญทางการค้า ดังนั้นการหยิบเอาเอกลักษณ์อันโดดเด่นในท้องถิ่นมาต่อยอดความสำเร็จในสนามการค้ายังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหม
เฉกเช่น “เรือกอและจำลอง” สินค้าทำมือที่มาจากกลุ่มวัยรุ่นหมู่ 10 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้รวมตัวกันใช้เวลาด้วยการศึกษาเรียนรู้การถอดแบบและจำลองความงดงามของเรือกอและลำใหญ่ ที่ใช้ออกทะเลหาปลามาสู่สินค้าที่ระลึกขนาดจิ๋ว จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้
ภูริวัจน์ สิริพงศ์นรากุล หนุ่มวัยรุ่นผู้เป็นแกนนำคนสำคัญของ “กลุ่มเยาวชนเรือกอและบ้านทอน” กล่าวว่า บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้ชื่อว่าเป็นดั่งแหล่งกำเนิดเรือกอและในภาคใต้ แต่ปัจจุบันนี้ อาชีพการต่อเรือกอและได้ลดน้อยลง เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปโดยชาวประมงจำนวนไม่น้อยหันไปพึ่งพิงการดัดแปลงเรือด้วยวิธีติดเครื่องยนต์ แปรสภาพเป็นเรือประมงที่แตกต่างไปจากเรือกอและในวันวานอย่างสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความคิดในการการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปด้วยการจำลองความงดงามของเรือกอและ มาเป็นสินค้าที่ระลึกเพื่อให้ภูมิปัญญาของบรรพชนได้มีลมหายใจยาวนานขึ้น โดยการถ่ายทอดศิลปะลวดลายพื้นเมืองผสมผสานกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับเรือกอและ ลงบนเรือกอและจำลองขนาดเล็กอย่างประณีตและวิจิตรงดงาม
ภูริวัจน์ กล่าวต่อว่า "เรือกอและจำลอง” ของกลุ่มเยาวชนเรือกอและบ้านทอน ร่วม 10 ชีวิต เริ่มต้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาจากครูต่อเรือกอและ ที่นับวันจะหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้น้อยลงทุกขณะ ปัจจุบันเรือกอและจำลองมีให้เลือกมากมายหลายขนาดตั้งแต่ 6 นิ้วไปจนถึง1 5นิ้ว รวมถึงยังสามารถทำตามคำสั่งของลูกค้าได้อีกด้วย ทั้งนี้ สนนราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันบาทเท่านั้น กลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งกลุ่มบริษัทห้างร้าน โรงแรม รวมถึงข้าราชการ ที่ต้องการนำไปประดับหรือโชว์ในบ้าน หรือสถานที่ทำงาน
ด้าน “อนูซี สาและ” หนุ่มมุสลิมหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเยาวชนเรือกอและบ้านทอน กล่าวว่า นอกจากจุดเด่นในเรื่องของลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นแล้ว ยังเน้นเรื่องของสีที่จะต้องสดและเข้ม เพื่อสร้างความโดดเด่นเหมาะสำหรับวางบนโต๊ะหรือตู้โชว์
“การสร้างเรือกอและจำลองต้องอาศัยความประณีตในการถ่ายทอดศิลปะลวดลายพื้นเมืองผสมผสานกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับเรือกอและ ลงบนเรือกอและจำลองขนาดเล็กอย่างวิจิตรงดงามแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในชุมชนได้อีกด้วย โดยสมาชิกแต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 8,500 บาท และยิ่งหากมีใบสั่งจากลูกค้า หรือช่วงเทศกาลรายได้จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว” อนูซีกล่าว
อนูซีบอกว่า จุดยืนของเยาวชนบ้านทอนคือการรังสรรค์เรือกอและจำลอง เพื่อต้องการให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษยังคงสามารถถ่ายทอดให้ลูกหลานได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของลวดลาย ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยอิสลาม จีน บนเรือกอและ คงอยู่ตราบนานเท่านาน นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น "กริชไม้จำลอง" ที่เน้นการแกะสลักลวดลายที่สวยงามไม่แพ้เรือกอและ เหมาะสำหรับเป็นของฝากที่ระลึกเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ลูกค้า
หนุ่มมุสลิมคนเดิมกล่าวต่อว่า นอกจากจะช่วยอนุรักษ์มรดกแห่งสังคมแล้ว การสร้างเรือกอและจำลอง ยังช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของคนในหมู่บ้านและสร้างความสงบสุขระยะยาวให้แก่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย เพราะเมื่อมีรายได้ปัญหาปากท้องก็หมดไป เยาวชนก็จะไม่ถูกลากจูงไปทำในสิ่งที่ผิดเหมือนที่ผ่านมา
เรือกอและจำลองของกลุ่มเยาวชนเรือกอและบ้านทอน นับเป็นศิลปะประดิษฐ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวประมงนราธิวาสมาสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ในรูปแบบของที่ระลึก จนสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างน่าชื่นชม หากใครต้องการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพให้เยาวชนจากดินแดนด้ามขวานให้ร่วมกันธำรงไว้ซึ่งมรดกแห่งบรรพชนเพื่อให้คงอยู่สืบต่อไปตราบนานเท่านาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.08-9450-4815 หรือ 08-4114-0745
เทคนิคการผลิตเรือกอและจำลอง
"ภูริวัจน์" หนุ่มวัยรุ่นจากบ้านทอน อธิบายการทำเรือกอและจำลองของศูนย์เรือกอและจำลองบ้านทอน จะต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นไม้กระท้อน ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน แกะสลักง่าย ทนทาน นอกจากนั้นยังมีกระดาษเขียนแบบ สีที่ใช้คือสีน้ำมัน โดยมีโทนสีหลักคือสีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว สีขาว สีดำ พู่กัน ดินสอ เป็นต้น
วิธีทำ
คือสร้างแบบเรือกอและลงในกระดาษ นำไม้กระท้อน ตัดขนาดตามแบบที่ต้องการ หลังจากนั้นนำไม้ไปกรอตามแบบที่สร้างไว้ และนำไม้มาฉลุลวดลายตามแบบร่าง และเขียนลวดลายตามจินตนาการของตนเองหรือลายประยุกต์ระหว่างลายไทย ลายชวา ลายมลายู เมื่อวาดลายหรือลงฉลุลายเสร็จแล้วเลือกสีน้ำมันตามต้องการ ซึ่งขั้นตอนการลงสีจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก
“ขั้นตอนการทำยุ่งยากไม่น้อย ต้องใช้เวลาและความอดทนสูง แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นยังคงปรากฏอยู่บนชิ้นงานสืบไปไม่มีวันสูญสิ้น”ภูริวัจน์กล่าวอย่างภูมิใจ
"สุพิชฌาย์ รัตนะ"