ไลฟ์สไตล์

"ผ้ากาบบัว"ของดีเมืองอุบล
สินค้าไทยนิยมใน"ต่างแดน"

"ผ้ากาบบัว"ของดีเมืองอุบล สินค้าไทยนิยมใน"ต่างแดน"

17 มิ.ย. 2554

ผ้าไทยสายใยเมืองอุบลราชธานี ได้เกิดขึ้น เพื่อธำรงไว้ ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองอุบลราชธานี โดยความริเริ่มของ นายศิวะ แสงมณี อดีตผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ได้มอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป

 ปัจจุบันผ้ากาบบัว ได้รับการสืบสานให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ จ.อุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นผ้าไทย มีการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ลายกาบบัวตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยรุ่นด้วยรูปแบบที่หลากหลาย อย่างเช่น บ้านคำขวาง หมู่ 5 ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบล ราชธานี โดยการนำของ ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ นายกเทศมนตรีหญิงนักพัฒนาแห่งเทศบาลตำบลคำขวาง ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงาน และสานงานผ้ากาบบัวให้เดินหน้าสู่สินค้าโอท็อปของ ต.คำขวางให้สู่ระดับประเทศ

 "เรามีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะร่วมมือกันผลักดันผ้ากาบบัว ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้กับชุมชน ซึ่งขณะนี้จากความพยายามของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ท้องถิ่น ตลอดจนความร่วมมือของสมาชิกกลุ่มที่ต่างได้พิถีพิถันผลิตชิ้นงานออกมา ในที่สุดก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดียิ่ง" ณัฐณิชาช์ แจง

 ณัฐณิชาช์ บอกว่า ปัจจุบันผ้ากาบบัวที่มีการถักทอหลากลวดลาย ไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือในกิจการร้านอาหารของคนไทย ก็ได้มีการสั่งนำไปตัดเย็บเป็นผ้าประดับตกแต่งอาคาร เช่น เป็นผ้าม่าน มูลี่กันแสง ผ้าปูโต๊ะ หมอนอิง และโซฟา รวมทั้งเป็นเครื่องใช้ เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี และที่น่าภาคภูมิใจคือ เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นที่เสด็จฯ มายัง จ.อุบลราชธานี เพื่อทรงงานด้านการประมงน้ำจืด ก็โปรดฉลองพระองค์ด้วย "ผ้ากาบบัว"

 "สมาชิกผ้ากาบบัวของ ต.คำขวางมีจำนวนกว่า 30 คน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้านที่ว่างเว้นจากการทำนา และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งมองว่าเป็นการสร้างเสริมรายได้ให้กับครอบครัวอีกทาง เราจึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อทอผ้ากาบบัว และตัดชุดจำหน่ายโดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่" ณัฐณิชาช์แจง

 นอกจากนี้ ในการประชาสัมพันธ์ผลงาน ทางกลุ่มได้ตระเวนเดินสายออกบูธตามที่ต่างๆ ที่ภาครัฐ เอกชน จัดขึ้น อีกทั้งจะนำไปจำหน่ายในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลเข้าพรรษา ออกพรรษา งานกาชาด งานประเพณีบุญบั้งไฟ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับตลอดจนความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สมาชิกภายในกลุ่มมีรายได้ถึงคนละกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งส่งผลให้สถานะด้านการเงินไม่ฝืดเคือง โดยลวดลายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อาทิ ลายดอกแก้ว ดอกพิกุล และ ลายน้ำไหล

 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มแม่บ้านบ้านคำขวาง หมู่ 5 ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หรือที่ศูนย์แสดงสินค้าโอท็อป ของเทศบาลตำบลคำขวางทุกวันในเวลาราชการ 
         
"ทศพร ก้อนแก้ว"