ไลฟ์สไตล์

ดูแลสุขภาพ
สุขบัญญัติ 10 ประการ "ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย"

ดูแลสุขภาพ สุขบัญญัติ 10 ประการ "ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย"

10 มิ.ย. 2554

ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โดยปกติจะมีอาการซีดเหลือง ตับ-ม้ามโต ในรายที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเบต้าธาลัสซีเมีย เมเจอร์ และผู้ป่วยเบต้าธาลัสซีเมียฮีโมโกลบินอีที่มีอาการรุนแรง จะมีการเจริญเติบโตไม่สมอายุ

มีโครงสร้างกระดูกผิดปกติ มีอาการทางหัวใจ ต่อมไร้ท่อ ภูมิต้านทานต่ำและเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายและการติดเชื้อ
 การให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและครอบครัวโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในชีวิต
 ปัจจุบันประเทศไทยสามารถรักษาผู้ป่วยเด็กอาการรุนแรงที่มีผู้บริจาคไขกระดูกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะได้จากพี่น้องท้องเดียวกัน หรือจากผู้บริจาคทั่วไป ให้หายจากอาการของโรค ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกประมาณ 200 ราย แต่ในผู้ป่วยที่ไม่มีผู้บริจาคไขกระดูกที่เหมาะสม และมีอาการปานกลางจนถึงขั้นรุนแรงต้องรักษาด้วยวิธีการให้เลือดเพื่อรักษาภาวะซีดเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ซีดไม่มาก ไม่จำเป็นต้องให้เลือดสม่ำเสมอ จะให้ในกรณีที่ซีดลงเวลามีไข้ และติดเชื้อเท่านั้น
การรักษาด้วยการให้เลือดแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ
 1. การให้เลือดแบบประคับประคอง  คือการให้เลือดเมื่อผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
 2. การให้เลือดอย่างสม่ำเสมอจนระดับฮีโมโกลบินก่อนให้เลือดให้สูงใกล้เคียงคนปกติประมาณ  9 กรัม/เดซิลิตร มักจะให้ในผู้ป่วยเด็กเพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูกใบหน้า  ม้ามไม่โต หรือถ้าม้ามโตอยู่ก่อนจะยุบลงได้ จึงไม่จำเป็นต้องตัดม้าม การดูดซึมธาตุเหล็กจากทางเดินอาหารลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดี
 การให้เลือดสม่ำเสมอมีผลทำให้เกิดภาวะเหล็กสะสมในร่างกาย ที่เรียกว่า secondary hemochromatosis ซึ่งเกิดจากการดูดซึมธาตุเหล็กจากระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้นเนื่องจากความซีดและการได้รับเลือดบ่อยครั้ง ร่างกายไม่สามารถกำจัดเหล็กส่วนเกินออกจากร่างกายได้  ธาตุ เหล็กที่มีมากเกินไปจะไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ หัวใจ และต่อมไร้ท่อต่างๆ ทำให้อวัยวะเหล่านี้ถูกทำลาย ร่างกายไม่มีกระบวนการขับถ่ายธาตุเหล็กตามธรรมชาติ ธาตุเหล็กที่สะสมอยู่  จึงเป็นโทษต่อร่างกายจำเป็นต้องหาวิธีขับออกด้วยการใช้ยาขับธาตุเหล็ก ยาจะจับธาตุเหล็กและช่วยกำจัดเหล็กออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ
 ยาขับธาตุเหล็กมี 2  ประเภท  คือ ยาฉีด โดยใช้เครื่องปั๊มยา ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน โดยทั่วไปมักจะทำตอนกลางคืนและเอาเข็มออกตอนเช้า ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถทนต่อความเจ็บจากการฉีดยาทุกวันได้ จึงไม่ได้ยาตามที่ควรต้องได้ และยาเม็ดรับประทาน  เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องฉีดยาหรือลดความถี่ในการฉีดยาลงได้มาก ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก 
 โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยการให้เลือดและยาขับเหล็กไปตลอดชีวิต หากผู้ป่วยไม่มีโอกาสได้รับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก  เพื่อการรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคหรือลดความรุนแรงของโรคให้ลดลง  กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สุขบัญญัติ 10 ประการ สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
 1. รับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด  เค็มจัด และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ตับ เลือด
 2. รับประทานผักทุกมื้อ ให้ได้ปริมาณประมาณมื้อละ 1 ทัพพี
 3. รับประทานผลไม้ทุกวัน
 4. ดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 6-8 แก้ว
 5. ดื่มนมทุกวัน วันละ 2-3 กล่อง
 6. นอนอย่างน้อยวันละ  6-8 ชั่วโมง
 7. ออกกำลังกายทุกวัน  วันละ 15-30 นาที ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีโอกาสกระทบกระแทกรุนแรง
 8. อาบน้ำอย่างน้อยวันละ  1 ครั้ง
 9. แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ควรได้รับการตรวจฟันจากทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง
 10. รับประทานยาโฟลคและวิตามินรวมทุกวัน เพื่อช่วยในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง
ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์  
หัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี