
"ไม่ควรดูพากย์ไทย" ปลุก ดราม่า ทำทัวร์ลงเพจดัง คนดูหนังถกสนั่น แบบไหนดีกว่า
ดราม่าแฮชแท็ก "ไม่ควรดูพากย์ไทย" ทำคอหนังถกสนั่นโซเชียล ดูแบบไหนดีกว่ากัน นักวิจารณ์ภาพยนตร์เข้าวงร่วม ให้เหตุผลละเอียดยิบ
ทำเอาคอหนังถึงกับสาดความคิดเห็นใส่กันไม่ยั้งหลังเกิดแฮชแท็ก "ไม่ควรดูพากย์ไทย" ที่หลายคนต่างให้ความเห็ฯกันว่าดูหนังแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างพากย์ไทย หรือ เสียงต้นฉบับ (Soundtrack)
จุดเริ่มต้นของ ดราม่า "ไม่ควรดูพากย์ไทย" เกิดจาก เพจรีวิวหนัง ได้เข้าไปโพสต์ตั้งคำถามในกลุ่ม "OS Fan Club คุนเน้นๆ เกม การ์ตูน ซูเปอร์ฮีโร่ ไอดอล" โดยระบุข้อความว่า "Ultraman Rising" ควรดูเสียง ENG หรือ JP?"
ซึ่งหลังจากการตั้งคำถามดังกล่างได้มีความคิดเห็นที่ระบุว่า "ไม่ควรดูพากย์ไทย" จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันบนโลกออนไลน์สำหรับคนรักหนัง ซึ่งทางเจ้าของเพจต้นโพสต์ได้ออกมาโพสต์อีกครั้งหลังจากที่เกิดแฮชแท็ก "ไม่ควรดูพากย์ไทย" ว่า
"มี IB แจ้งว่ามีคนในวงการนักพากย์ไทย ไม่พอใจในคอมเม้นที่บอกว่า #ไม่ควรดูพากย์ไทย จึงอยากจะพูดอย่างเปิดอกว่า ผมไม่มีปัญหาอะไรกับนักพากย์ไทย ไม่มีปัญหาอะไรคนดูพากย์ไทย
แต่ถ้าถามว่าหนังฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือหนังที่ไม่ได้พูดภาษาไทย ก็ยังคงต้องเน้นย้ำว่า #ไม่ควรดูพากย์ไทย ด้วยเหตุผล ว่าภาพยนตร์ เสียงเองก็เป็นปัจจัยสำคัญ เช่นเดียวกับภาพ การได้รับฟังเสียงของต้นฉบับ ของนักแสดงที่เล่น ที่ผู้กำกับเลือกคัตนั้น คือการเสพย์งานแบบที่เต็ทอรรถรสที่สุด
เช่นเดียวกับหนังไทย ต่อให้ได้วาคีน ฟีนิกซ์มาพากย์เสียงอังกฤษ ผมก็จะบอกว่าให้ดูเสียงต้นฉบับ #ไม่ควรดูพากย์อังกฤษ เพราะผมยึดถือว่าการดูในสิ่งที่ผู้สร้างต้องการนั้น คือที่สุด"
ความเเห็นชาวเน็ต "ไม่ควรดูพากย์ไทย" แบบไหนดีกว่ากัน
ความคิดเห็นของชาวเน็ตมีทั้งชื่นชอบเสียงต้นฉบับ (Soundtrack) ของหนัง โดยบางรายรบุเหตุผลว่า เสียงพากย์ต้นฉบับนั้นดีอยู่แล้ว ต่อให้พากย์ใหม่ดีเลิสขนาดไหนก็สู้ต้นฉบับไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีบางส่วนให้เหตุผลที่ชอบดูเสียงพากย์ต้นฉบับว่า เป็นการเสพศิลปะจากหนัง ผ่านเสียงต้นฉบับ "เห็นด้วยในข้อที่ว่า ยังไงก็ตามเสียงต้นฉบับจะได้อรรถรสสูงที่สุดเพราะเป็นเสียง original ครับ"
ส่วนคอหนังบางส่วนที่ขื่นชอบการพากย์เสียงไทย มีความเห็นว่า การดูหนังพกย์ไทยนั้นก็เป็นความสนุกในอีกอรรถรสหนึ่ง และไม่ได้มองว่าเป็นการลดทอนศิลปะของหนังแต่อย่างใด ทั้งยังรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังเสียงพากย์ไทยหรือต้นฉบับ ก็อยู่ที่ความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ไม่มีคำว่าดีกว่าหรือไม่ดีกว่า
นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตที่มองว่า ทางเพจต้นดราม่าดังกล่าว ใช้คำที่สื่อความหมายผิดไปอย่าง "ไม่ควรดูพากย์ไทย" ซึ่งหลายคนระบุความคิดเห็นว่า ควรใช้คำที่มีความหมายเบาลงกว่านี้อย่าง หากเปลี่ยนจาก "ไม่ควรดูพากย์ไทย" เป็น "แนะนำว่าให้ดูเสียงต้นฉบับดีกว่า" จะเข้าใจกันได้มากกว่า
นักวิจารณ์หนัง เข้าวงดราม่า "ไม่ควรดูพากย์ไทย"
ทางด้านของ ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า
เห็นคนรอบตัวแชร์ #ไม่ควรดูพากย์ไทย จากเพจหนังเพจหนึ่ง พอเห็นแชร์มาก ๆ ก็รู้สึกอดคันปากไม่ได้จนต้องพิมพ์
ส่วนตัวในฐานะเป็นคนดูหนัง ถามว่า #พากย์ไทย มีความจำเป็นต้องฟังหรือไม่ ? เลยขอบันทึกคำตอบสำหรับตนเองก่อน
1 ) การข้ามกำแพงทางด้านภาษา
ส่วนหนึ่งของการเกิดพากย์ไทยช่วงเวลาดังกล่าวมาจากช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง หนังเงียบอยู่ช่วงขาลง กับ หนังเสียงเข้ามาในสยาม ตอนนั้นทางเจ้าของโรงภาพยนตร์พัฒนากรประสบปัญหาคนดูหนังลดน้อยลง นาย ต่วน ยาวะประภาษ ซึ่งตอนนั้นเป็นบรรณธิการหนังสือภาพยนตร์รายเดือนในชื่อ “ภาพยนตร์สยาม” (ซึ่งเป็นหนังสือภาพยนตร์รายเดือนเล่มแรกของสยาม) และเป็นหนังสือของเครือโรงหนัง
นายต่วนเคยเรียนที่ญี่ปุ่นและเห็นการพากย์ของญี่ปุ่นมาก่อน เขาจึงเสนอให้มีการพากย์เสียงทับหนังขึ้นมา ทางโรงหนังไม่มีทางเลือกอื่นจนต้องอนุญาตให้ลอง นายต่วนจัดการด้วยการเตรียมบทพากย์ เขาใส่นุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน ยืนบนเวทีข้างหน้าจอ ในมือมีไฟส่องบท 1 ดวงและโทรโข่ง 1 ตัว และเริ่มบรรยายบทพูดและบทสนทนาขึ้น
ทั้งนี้ยังรวมถึงการทำเสียงประกอบเองด้วย ถึงแม้นายต่วนจะไม่ใช่นักแสดง เสียงแข็งไร้อารมณ์ แต่ด้วยความแปลก เสียงตอบรับของคนไทยต่อการพากย์ก็ตอบสนองเป็นอย่างดี (การพากย์หนังเงียบญี่ปุ่นสามารถดูได้จาก Talking The Pictures หนังผู้กำกับ Shall We Dance : https://youtu.be/Wj546a5frJE?si=QS5hF8Igm40oJS6r )
สาเหตุที่ตอบรับเป็นอย่างดีมาจากภาพยนตร์เงียบในช่วงเวลาดังกล่าว เสียงในหนังที่เข้ามาในยุคแรกมีการพูดภาษาต่างประเทศจึงฟังไม่รู้เรื่องจนต้องมีการแปลเป็นบทขึ้นมา การกระทำของนายต่วนจึงเป็นปรากฎการณ์ต้นสายการพากย์หนังในไทย
ต่อมาในปี 2470 นาย สิน สีบุญเรือง (ทิดเขียว) เพื่อนนายต่วนและญาติโรงหนังดังกล่าว เห็นโอกาสในการทดลองพากย์เสียงไทย ด้วยความสามารถด้านการพากย์โขนสดก็ดัดแปลงใช้เป็นพากย์หนังสด ด้วยความที่ตนพากย์คนเดียวจึงรับบททุกวัย ทุกเพศ สัตว์ จนถึงเสียงประกอบ เช่น เสียงปืน เป็นต้น ( จะบทเด็กชาย เด็กหญิง คนแก่ ไก่ หมา ก็เหมาหมด ) ผลตอบรับกลายเป็นกระแสบวกอย่างล้นหลาม
ถัดมาในช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การพากย์ก็เกิดเป็นยุคทองอีกครั้งโดยนำโมเดลการพากย์แบบ นายสิน มาประกอบการพากย์ กลายเป็นยุคทองของหนังฟิล์ม 16 มม. ที่เป็นช่วงการฉายหนังกลางแปลงและนักพากย์เร่ (รวมถึงฉายหนังแบบรถvายยา ) ซึ่งค่านิยมของการพากย์ก็ยังเป็นที่นิยมและมีชื่อไม่แพ้ดาราในหนัง ซึ่งถ้าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงหนังไทย “มนต์รักนักพากย์”
ฉะนั้นการพากย์ไทยจึงเป็นการข้ามกำแพงภาษาให้เข้าใจหนังมากขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
2 ) ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น
จะเห็นได้ว่าการพากย์ไทยแรกเดิมมาจากสื่อสารที่เข้าถึงง่ายและสนุกกับลีลาของผู้พากย์ อีกทั้งการรับจ้างพากย์หนังกลางแปลง มันต้องการพื้นที่ใหญ่ในการฉาย เช่น วัด หรือ งานมงคล เป็นต้น มันจึงเป็นการสร้างคอมมูนิตี้สำหรับชาวบ้านที่มานั่งดู (ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนชนชั้นล่างและกลาง) ฉะนั้นการพากย์ไทยจึงเป็นการสร้างพื้นที่ประกอบการเรียกรายได้แก่ชุมชน(แม้ในระยะสั้น)อีกด้วย หากมองที่ช่องว่างระหว่างชนชั้น การพากย์เป็นการช่วยย่อยความเข้าใจของคนดูต่องานศิลปะเช่น ภาพยนตร์ และ แอนิเมชั่น ให้ดูเข้าใกล้ง่ายและแตะถึง
3 ) การพากย์ไทยเป็นการย่อยสารให้ง่าย เหมาะกับทุกวัย
ผู้เขียนมั่นใจว่าคนไทยส่วนใหญ่เติบโตมากับงานพากย์ไทยจากแอนิเมชั่น ( ดิสนีย์ ) หรืออนิเมะญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งไม่ว่ากี่รุ่นก็ต้องผ่านมือบ้างเนื่องจากความง่ายในการสื่อสารแบบย่อยง่าย (โดยเฉพาะภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษ) เพื่อให้เด็กเข้าถึงงานได้ง่ายเนื่องจากเป็นการช่วยลดระยะจากตัวอักษรให้มองภาพได้มากขึ้น
อีกส่วนคือคนไทยมีพฤติกรรมทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เหมือนกับแม่บ้านช่วงยุคละครสบู่ยุค 50 พากย์ไทยจึงเป็นโอกาสในการลดการมองจากภาพ ถึงทำกิจกรรมได้ด้วยก็สามารถรู้เนื้อหาของสิ่งที่ดูได้ หรือย่อยสิ่งที่ยากเพื่อสื่อสารให้ง่ายขึ้น เช่น รายการแนววิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น หรือช่วยบุคคลที่นึกภาพไม่ออกให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น (เช่น คนตาบอด หรือ สายตาสั้น)
ทั้งนี้จากทั้งหมด 3 อย่างก็พึงถึงประโยชน์ของงานพากย์ไทยได้ทั้งเชิงอรรถรสและความสำคัญของงานศิลปะ
ในระยะหลังของทีมอินทรีย์ และ พันธมิตร (ซึ่งจะคุ้นเคยผ่านงานฝรั่งและเอเชีย ผ่านมีเดียตั้งแต่วิดิโอเทป ซีดี ดีวีดี ช่องทีวี และเคเบิล) แม้ทีมพากย์จะแตกตัวจากกลุ่มเป็นอิสระ แต่การสื่อสารเท่าต้นฉบับและความสนุกของการดูก็ยังคงผ่านสายตาของคนดูชาวไทยไม่มากก็น้อย ยิ่งนับวันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการปั้นตัวละครเป็นการแสดงมากขึ้นเพื่อยกระดับให้เท่าสากล การพากย์จึงเป็นงานเชิงศิลปะผ่านการใช้เสียงที่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนหน้าตาไม่แพ้การแสดงผ่านร่างกายเลย
ถึงแม้เรื่องอรรถรสส่วนบุคคลจะเป็นเรื่องเชิงปัจเจก เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ชอบต้องมีคนไม่ชอบบ้างด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่ในแง่ความเป็น“สื่อ”โดยเฉพาะงานศิลปะ มันต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อตอบรับคำวิจารณ์หรือวาดลวดลายทางอารมณ์อย่างเข้าอกเข้าใจ ฉะนั้นการเข้าใจความหลากหลายจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะคำว่า“ไม่ควร” นอกจากเป็นการตัดตัวเลือกในเชิง“ติ” มันยังส่อความโดยนัยถึงความ“ไม่งาม”ด้วย ทางเพจดังกล่าวจึงควรใช้คำที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ #ไม่ควรดูพากย์ไทย (ถ้าเป็นผู้เขียนจะใช้คำว่า “ไม่สันทัด” เพื่อลดเรื่องการแนะนำ และ เปิดโอกาสให้คนดูได้เลือกมากขึ้น)
ฉะนั้นลองปิดตาสักข้าง หรือตีลังกาดูอีกสักรอบ เผื่อเห็นความงามของศิลปะที่เรียกว่า“เสียง”เผื่อจะเห็นสุนทรียะของการฟังเสียงไทยมากขึ้นนะครับ