สรุปเส้นทางชีวิต 'ดร.เค็ง' ป่วยจิตเวช มหา’ลัยไล่ออก ฟ้องเรียกเงิน นับ 10 ล้าน
สรุปเส้นทางชีวิต 'ดร.เค็ง' ป่วยจิตเวช มหา’ลัยไล่ออก ซ้ำฟ้องเรียกเงินนับ 10 ล้านหาว่าหนีใช้หนี้ทุน บก.ลาย จุดถาม ระเบียบยืมทุนหากป่วยมีข้อยกเว้นแต่ทำไมถูกฟ้อง
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด โพสต์ข้อความ เล่าถึงเรื่องราวของ "ดร.เค็ง" หรือ ซึ่งกลายเป็นคนที่ถูกฟ้องร้องจากศาล เพียงเพราะป่วยจิตเวช และไม่สามารถทำงานเพื่อใช้ทุนป.เอกได้ ปัจจุบัน "ดร.เค็ง" เป็นหนี้นับสิบล้าน จากการที่มหาวิทยาลัยฟ้องร้องเธอ
โดย ได้เล่ารายละเอียด เกี่ยวกับ ชีวิตของ "ดร.เค็ง" ว่า เธอเกิดในครอบครัวคนจีนที่มีพี่น้อง 9 คน เธอเป็นคนที่ 8 ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจนในวัยเด็ก พี่ๆต้องทำงานส่งเสียเธอเรียน และเธอเป็นคนเดียวในบ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก ด้วยทุนกระทรวงวิทยฯ และม.แม่ฟ้าหลวง
เรื่องมีอยู่ว่าตอนเธอเรียน ป.เอก อยู่ที่อังกฤษอยู่นั่นเธอป่วยด้วยโรคจิตเวช เธอเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล แต่โชคดีระบบการดูแลของมหาวิทยาลัยที่นั่นดีมากจนอาการของเธอกลับมาดีและเรียนจนจบ ป.เอก และกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นอาจารย์อยู่ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง และเมื่อทำงานเป็น อ.ได้อีกสักระยะหนึ่งอาการป่วยของเธอกำเริบและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้บริหารขอให้เธอลาออก ด้วยสภาวะการเจ็บไข้ทำให้เธอเขียนข้อความลาออกทางอีเมล์ในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการใช้ทุน และมหาวิทยาลัยก็ฟ้องเธอเรียกเงินชดเชยทุนที่ส่งเธอไปเรียนนับสิบล้านบาท
"ดร.เค็ง" ไม่รู้เลยว่าการเจ็บป่วยของเธอนั้นจะนำไปสู่ความยุ่งยากถึงขนาดนี้ เธอเดินเร่ร่อนอยู่ที่เชียงราย ขี่จักรยานจากในเมืองไปแม่จัน พูดคนเดียว ไม่อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเดิมๆอยู่เป็นปี เธอป่วยจิตเวชเต็มรูปแบบ กว่าเธอจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็ผ่านไปหลายปี แม้ตอนนี้อาการจิตเวชจะดีขึ้นแล้วเธอยังมีอาการซึมเศร้า และรับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องจนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายและทำให้พี่ชายที่เซ็นค้ำประกันตอนขอทุนได้รับความเดือนร้อนไปด้วย
"ดร.เค็ง" ต่อสู้คดีโดยลำพังในศาลปกครองในขณะที่เธอยังอยุ่ในสภาพที่แม้ดีขึ้นแต่ไม่ปกติ เธอสู้ว่าเธอไม่ได้หนีทุน แต่เพราะเธอป่วยซึ่งมิใช่การกระทำของตนเอง ซึ่งในระเบียบของกระทรวงวิทยฯได้มีข้อยกเว้นการใช้ทุนหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ แต่ ม.แม่ฟ้าหลวง สู้ในประเด็นว่าเธอลาออกและไม่ทำงานใช้ทุน ศาลรับพิจารณากรณีเพียงได้ใช้ทุนหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าป่วยหรือไม่ป่วย เธอแพ้คดีในศาลปกครองชั้นต้น และอยู่ระหว่างการอุธรณ์
คนที่เคยเป็นความหวังของครอบครัวกลับกลายอยู่ในสภาพที่ถูกฟ้องร้องด้วยเงินนับสิบล้านบาท แม้พยายามขอกลับเข้าไปทำงานเพื่อยุติข้อพิพากก็ไม่ได้รับโอกาส จนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค 2566 เธอได้กลับไปทำงานให้กับมูลนิธิฯแห่งหนึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นการกลับเข้าสู่การทำงานในรอบสิบปี และเธอมีความสุขมาก แม้หัวหน้างานจะบอกว่างานวิจัยของเธอนั้นทำงานที่บ้านได้ แต่เธออยากออกมาเจอผู้คนและกลับเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง