เฉลยแล้ว ปรากฎการณ์ 'แสงสีเขียว' บน เขาพะเนินทุ่ง ใช่ 'แสงเหนือ' หรือไม่
'อ.อ๊อด' วีรชัย พุทธวงศ์ เฉลยแล้ว ปรากฎการณ์ 'แสงสีเขียว' บน เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คืออะไร ใช่ 'แสงเหนือ' หรือไม่
กลายเป็นที่ฮือฮาบนโลกโซเชียล หลังเกิดปรากฎการณ์แสงสีเขียว หรือที่คนเข้าใจว่าเป็น “แสงเหนือ” เหมือนในต่างประเทศ แต่คราวนี้พบบนเขาพะเนินทุ่ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งนักท่องเที่ยวบางส่วนได้มีโอกาสเห็น และ ทางเพจ เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้โพสต์ภาพความสวยงามนี้ออกมาให้ได้ชมเช่นกัน แต่ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ ใช่ “แสงเหนือ” หรือไม่ อ.อ๊อด เฉลยแล้ว
“อ.อ๊อด” รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า เทือกเขาภาคตะวันตก อยู่ใกล้กับเมียนมา และติดกับทะเลอันดามัน หากมองในทิศตรงข้าม ก็เป็นฝั่งอ่าวไทย เพราะฉะนั้น เขาพะเนินทุ่ง จะอยู่ระหว่างทะเล ประกอบกับช่วงนี้ เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และเข้าสู่ฤดูหนาว ปลาหมึกจะมีจำนวนค่อนข้างมาก จึงมีเรือไดหมึก ที่ใช้แสงสีเขียวล่อปลาหมึก หรือ เรียกว่า “ตกหมึก” ซึ่งจากฝั่งเมียนมา หากมองจากเขาพะเนินทุ่งไป จะเห็นเยอะมาก
อ.อ๊อด กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวประมงใช้ไฟสีเขียว ในการไดหมึก หรือ ตกหมึก เพราะจะทำให้ปลาหมึก คิดว่าเป็นแพลงตอน หรือเป็นอาหาร จึงมารวมกัน จากนั้น ชาวประมงจึงใช้อวนลาก หรือ ตกหมึก ส่วนความยาวคลื่นจะอยู่ที่ 495 -570 นาโนเมตร เป็นช่วงความยาวคลื่นที่นักวิทยาศาสตร์พบว่า สามารถล่อปลาหมึกได้
ดังนั้น เมื่อแสงสีเขียวไปสะท้อนกับผืนน้ำ สะท้อนกับท้องฟ้า ก็จะทำให้คนที่อยู่บนเขาพะเนินทุ่ง มองเห็นแสงสีเขียว จนคิดว่าประเทศไทยมี “แสงเหนือ” เหมือนต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็เคยมีการเฉลยกันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็นับเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ท้องฟ้าบริเวณนั้นมีความสวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมวิวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์แสงเหนือ นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อเกิดการรบกวนจากดวงอาทิตย์ โดยแรงดึงดูดจากพระอาทิตย์บริเวณสนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งจะสร้างให้เกิดคลื่นในระบบจักรวาล หรือที่เรียกว่าคลื่นอัลเวียน (Alfvén) โดยมันจะปล่อยอิเล็กตรอนด้วยความเร็วสูง มายังชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งเป็นที่ที่เกิดแสงเหนือ
ขอบคุณภาพ : เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี