เด่นโซเชียล

ฝันที่กล้าฝัน 'รปภ.' ม.ราม มุ่งมั่นอ่านหนังสือ จนสอบติด 'อัยการ' สำเร็จ

27 ก.ย. 2566

ฝันที่กล้าฝัน อดีต 'รปภ.' มหาวิทยาลัย มุ่งมั่นอ่านหนังสือ จนสอบติด 'อัยการ' ผู้ช่วย พร้อมแชร์ทริคอ่านหนังสือ อย่างไรถึงสอบติดในครั้งแรก

ความพยายามไม่เคยทรยศใครจริงๆ โซเชียลแห่แชร์เรื่องราวของ ผดุงเกียรติ พรหมแก้ว อดีต "รปภ." มหาวิทลัยรามคำแหง อายุ 29 ปี  เขาได้มุ่งมั่นตั้งใจอ่านหนังสือจนสามารถสอบติด "อัยการ" ผู้ช่วยได้ ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ อุดม สุขทอง เป็น ผอ.ส่วนรักษาการทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง โพสต์ข้อความแสดงความยินดีกับ ผดุงเกียรติ พรหมแก้ว 

 

 

 

 

 

โดยในโพสต์มีข้อความระบุว่า "ความพยายามไม่เคยทรยศใคร ขอแสดงความยินดีกับ คุณผดุงเกียรติ พรหมแก้ว อดีต จนท.รปภ.ม.รามคำแหง (สังกัด อผศ.) มีความพากเพียรพยายามจนสอบติดอัยการผู้ช่วย (รุ่น 64) สนามใหญ่ ลำดับ 47 ขอจงมีความเจริญก้าวหน้า และผดุงความยุติธรรมให้สมกับความคาดหวังของประชาชนต่อไป"

 

รปภ.

 

จุดเริ่มต้นในการสอบเป็น "อัยการ" 

นายผดุงเกียรติ กล่าวว่า เริ่มต้นตั้งเป้าในการสอบเป็น "อัยการ" โดยสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2556 จบการศึกษาปี 2558 กระทั่งเรียนจบเนติบัณฑิตปี 2560 ซึ่งในระหว่างสอบเนติบัณฑิต ได้สมัครเข้าทำงานเป็น รปภ.ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง (เวรกลางคืน) ประจำคณะมนุษยศาสตร์ 

 

เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพและแบ่งเบาภาระครอบครัว พร้อมเป็นทุนในการศึกษาต่อ แต่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตร "รปภ." ก่อน และมีกฎระเบียบที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยขณะนั้นต้องทำงานควบคู่กับการสอบเนติบัณฑิตด้วย จึงต้องแบ่งเวลาทำงานและอ่านหนังสือเป็นสัดส่วน ตอนกลางวันพักผ่อนและอ่านหนังสือ ส่วนตอนกลางคืนเป็นเวลาทำงาน

 

รปภ.

 

จาก "รปภ." หลังสอบเนติบัณฑิตได้ในปี 2560
 
หลังจากสอบเนติบัณฑิตได้ในปี 2560 และสอบใบอนุญาตว่าความในปี 2561 ก็สอบได้นายร้อยตำรวจ ตำแหน่งพนักงานสอบสวน แต่ตัดสินใจสละสิทธิ์ เพราะเป้าหมายคือการเป็นพนักงานอัยการ จึงทำงานเป็น "รปภ." ต่อเพื่อเก็บเงินให้ได้จำนวนหนึ่ง เมื่อมีทุนเพียงพอแล้วจึงขอพักงาน "รปภ." 3 เดือน ไปสมัครฝึกงานที่สำนักงานสุรพงศ์อัมพันศิริรัตน์ทนายความ มีหน้าที่จัดทำเอกสารและช่วยว่าความ 

 

ได้สะสมประสบการณ์การว่าความให้ครบ 20 คดี จากนั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็น "รปภ." ที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่ขณะฝึกงานยังไม่ครบ 20 คดี ซึ่งเกณฑ์การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย กำหนดว่าผู้สอบต้องผ่านการว่าความ 20 คดี และใบอนุญาตว่าความจะต้องมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ทำให้มีเวลาเก็บคดีได้จนถึงปี 2563

 

นายผดุงเกียรติใช้เวลาในช่วงกลางวันไปประจำที่ศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อขอเป็นทนายความร่วม รับผิดชอบเรื่องการทำเอกสารและเป็นทนายว่าความในคดีนั้น เมื่อครบ 20 คดี จึงอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบอัยการ กระทั่งการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่ง "อัยการ" ผู้ช่วย พ.ศ. 2565 (สนามใหญ่) รุ่นที่ 64 นายผดุงเกียรติเข้าสอบเป็นครั้งแรก และสอบผ่านตั้งแต่ครั้งแรก ได้ลำดับที่ 47 กลุ่มที่ 1

 

อัยการ

 

 

สอบได้ "อัยการ" ตั้งแต่ครั้งแรก

นายผดุงเกียรติ กล่าวต่อว่าสามารถสอบได้อัยการตั้งแต่ครั้งแรก คือผลลัพธ์ของความพยายามทุ่มเท มีความฝันว่าอยากทำงานในตำแหน่งอัยการ โดยจะดำรงอาชีพอย่างมีเกียรติ จึงตั้งเป้าหมายและพยายามตั้งแต่ตอนนั้น จนทำตามความสำเร็จได้ ขอบคุณ ม.รามคำแหง ที่ให้โอกาสทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียม ขอบคุณคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่มอบความรู้ด้านกฎหมาย 

 

ซึ่งถือเป็นตำรากฎหมายเล่มแรกในชีวิต ทำให้มีความรู้และเรียนจบภายใน 2 ปี อีกทั้งยังให้อาชีพเลี้ยงตน โดยตลอดระยะการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่มหาวิทยาลัย ได้รับความรักและการช่วยเหลือจากอาจารย์ พนักงาน และเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างดี รวมทั้งสนับสนุนให้ทำตามเป้าหมาย ทั้งให้กำลังใจและให้คำแนะนำอย่างดีเสมอมา

 

เคล็ดลับการอ่านหนังสือให้ประสบความสำเร็จ

 

จะใช้หนังสือหลักของวิชานั้น เพียง 1 เล่ม โดยการอ่านคร่าวๆ ในรอบแรกเพื่อให้ทราบเนื้อหาทั้งหมดก่อน ต่อมาจะเริ่มไฮไลต์หัวข้อสำคัญในการอ่านครั้งที่ 2-3 พร้อมอ่านเนื้อหาอย่างละเอียด และเริ่มเขียนหรืหาสรุปลงในสมุดตามที่ตัวเองเข้าใจ

 

นอกจากนี้ควรอ่านหนังสืออื่นเพิ่มเติม เช่น ตัวอย่างการพิจารณาคดีแปลกๆ ซึ่งจะมีเนื้อหาแตกต่างจากหนังสือเรียน ที่มีเกร็ดความรู้ดีๆ มีตัวอย่างการว่าความที่เป็นประโยชน์มาเสริมแล้วนำสรุปมาอ่านซ้ำอย่างน้อยวิชาละ 10 รอบ

 

อัยการ