ใครว่าการ “ฉีดวัคซีน” จะฉีดตรงจุดไหนก็ได้ บริเวณหัวไหล่ คิดผิด เพราะ “หมอ” เผยเคสคนไข้ ภายหลัง “ฉีดวัคซีนโควิด” ทำ “ไหล่ติด” จนเกิดอาการปวด ทรมาน นาน 3 เดือน ต้องเข้ารับการผ่าตัด
นพ.สมรส พงศ์ละไม หรือ หมอสมรส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู (MD) โพสต์ข้อความเตือนให้ระวังการ “ฉีดวัคซีน” แล้ว “ไหล่ติด” ซึ่งเคสที่พบ เกิดจากการฉีดวัคซีน ในตำแหน่งที่สูงเกินไป จนทำให้หัวไหล่บาดเจ็บ
หมอสมรส เล่าเคสคนไข้รายหนึ่ง หลังจากฉีดวัคซีน (โควิด) ที่ไหล่ซ้ายไป 3 เดือน รู้สึกปวดไหล่มากขึ้นเรื่อยๆ เอามือเอี้ยวไปแตะข้างหลังไม่ได้ กางแขนก็ปวด ทำกายภาพบำบัดอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอก็ยังไม่ดีขึ้น กลางคืนปวดทรมานมากจนนอนไม่หลับ ทนทรมานอยู่ 3 เดือน เริ่มอิดโรย เพลีย หงุดหงิดง่าย ซึ่งจากการตรวจอัลตราซาวนด์ และ MRI หัวไหล่ ไม่พบการอักเสบ หรือการฉีกขาดของเส้นเอ็นเลย กระดูกและข้อต่อต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งไม่สามารถอธิบายอาการปวดนี้ได้
จากนั้น จึงเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง จึงพบว่า ข้างในแคปซูลหัวไหล่ เปลี่ยนเป็นแดง เป็นขุยๆ เหมือนหยากไย่เต็มไปหมด เข้าได้กับภาวะไหล่ติด (Adhesitve Capsulitis, Frozen shoulder) อาจารย์หมอกระดูก จึงได้ทำการเลาะเก็บขุยๆ ที่อักเสบออก และล้างหัวไหล่จนสะอาด หลังผ่าตัดอาการปวดไหล่หายไป 90% ใช้เวลาฟื้นฟูไหล่ประมาณ 3 เดือน จึงใช้ไหล่ได้ แต่ยังมีอาการไหล่ติดหลงเหลืออยู่บ้าง
ทั้งนี้ จากการวินิจฉัยหลังผ่าตัด ใกล้เคียงกับภาวะ “เซอร์ว่าซินโดรม (SIRVA syndrome)” หรือหัวไหล่บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน (Shoulder Injury Related to Vaccination Administration) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย มีหลายๆ งานวิจัยพบว่า เจอคนไข้อย่างน้อย 15 คน เกิดภาวะนี้ หลังจากฉีดวัคซีนโควิดชัดเจน
หมอสมรส ระบุว่า นอกจากฉีดวัคซีนโควิดแล้ว พบภาวะนี้จากการฉีดวัคซีนตัวอื่นๆ ในตำแหน่งที่สูงเกินไป ซึ่งปกติแล้ว เราจะฉีดวัคซีนใต้หัวไหล่ลงมา 3 นิ้วมือ เข้ากลางกล้ามเนื้อหัวไหล่ (middle deltoid) แต่เคสนี้ถูกฉีดวัคซีนใต้หัวไหล่เพียง 1 นิ้วมือ ทำให้วัคซีนอาจเข้าไปที่แคปซูลหัวไหล่ และเกิดการอักเสบได้
ท่องไว้ 3 นิ้ว
“สำหรับประชาชน และคนที่ฉีดวัคซีนให้คนไข้ กรุณาวัดตำแหน่งให้อยู่ที่ประมาณ 3 นิ้วมือ อย่าคิดว่าเคยฉีดคนอื่นๆ สูงกว่านี้ หรือต่ำกว่านี้ ไม่เห็นจะมีปัญหา เพราะเวลาคนไข้ไหล่ติดขึ้นมามันทรมานมากเป็นปี ซึ่งส่วนตัว หมอจะเอาปากกาวงตำแหน่งฉีดให้พี่ๆ พยาบาลเลย และแนะนำแบบนี้กับเพื่อนๆ ด้วยครับ ไหล่เราต้องเอาใจใส่เอง” หมอสมรส ให้คำแนะนำ
- ถ้ามีอาการปวดไหล่ หรือไหล่ติด ควรพบหมอกระดูกและข้อ หมอฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เพราะต้องตรวจร่างกายละเอียด จึงจะแยกโรคได้ถูกต้องเหมาะสม
- ไหล่ติด อาจหายได้เองใน 1-2 ปี และการฉีดยา steroid เข้าหัวไหล่ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจก่อนผ่าตัด ขึ้นกับหมอเจ้าของไข้พิจารณา
ไหล่ติด ที่นอกจากการฉีดวัคซีน
- ผู้ที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวบริเวณไหล่เป็นเวลานาน จะยิ่งมีความเสี่ยงกว่าคนปกติมากขึ้น เช่น คนที่เคยผ่าตัด หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ เพราะบางครั้งอาการไหล่ติดอาจเกิดขึ้นหลังจากการบาดเจ็บ หรือหักของแขนหัวไหล่ จึงทำให้บริเวณนั้นไม่ถูกใช้งานในขณะพักฟื้น
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีแนวโน้มเกิดอาการไหล่ติดมากขึ้นเป็น 2 เท่ากว่าคนปกติ อาการอาจรุนแรงและรักษาได้ยาก หรืออาจพัฒนาอาการขึ้นกับไหล่ทั้ง 2 ข้าง
- ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดในสมอง, โรคปอด, โรคทางต่อมไทรอยด์, มะเร็งเต้านม การหดรั้งของแผ่นเอ็นฝ่ามือ
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่ เช่น หินปูนเกาะกระดูก ไหล่ หรือเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด
ที่มา : Somros MD Phonglamai และ โรงพยาบาลเปาโล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง