เด่นโซเชียล

ภาพไวรัล "เสือดาวหิมะ" สรุปดราม่า แกงคนทั้งโลก เจอช่างภาพตัวจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สรุปดราม่า ภาพไวรัล "เสือดาวหิมะ" บนเทือกเขาหิมาลัย แกงคนทั้งโลก จับโป๊ะเพิ่ม เจอช่างภาพตัวจริง สุดท้าย ถ่ายที่ มองโกเลีย

เป็นภาพไวรัลบนโลกออนไลน์ หลังปรากฎภาพเสือดาวหิมะ บนเทือกเขาหิมาลัย ท่ามกลางหิมะขาวโพลน ซึ่งภาพเซ็ทนี้ ได้รับคำชมว่า สวยและงดงามมาก และต่างพากันตามหา เจ้าของภาพถ่าย ซึ่งตอนแรกพบว่า เป็นช่างภาพหญิงชาวอเมริกันวัยเพียง 24 ปี ก่อนที่เธอจะเล่าเบื้องหลังของภาพถ่ายเซ็ตนี้ แต่หลังจากนั้น กลับพบว่า ภาพดังกล่าวไม่มีจริง ทุกอย่างเป็นการตัดต่อ

 

แต่ล่าสุด เมื่อโป๊ะแรกเพิ่งผ่านไปไม่นาน ก็มีการจับโป๊ะที่สอง เมื่อนิตยสารไปขุดเจอว่า ภาพเสือดาวหิมะนั้น เป็นภาพของช่างภาพอีกคน ถ่ายที่มองโกเลีย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนปาลเลย แล้วถูกตัดต่อเอาภาพเสือ มาโปะใส่ภาพนั้น โดยที่เจ้าของภาพตัวจริงไม่ได้อนุญาต

 

เสือดาวหิมะ ขอบคุณภาพจาก alpinemag.com

 

สรุปดราม่าไวรัลเสือดาวหิมะ


1. ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ภาพของเสือดาวหิมะ กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ เพราะมันเป็นภาพของเสือดาวหิมะตัวหนึ่ง เดินอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ท่ามกลางหิมะที่ปกคลุมขาวโพลนไปทั่วทั้งเทือกเขา ภาพทั้งหมดมีอยู่ 4 ภาพ 

 

2. ภาพแรก เป็นภาพของเสือนั่งอยู่บนเนินเขา ด้านล่างเป็นธารน้ำแข็ง จนมองเห็นลมหายใจของมันพุ่งออกมาเป็นควันสีขาว ส่วนอีก 3 ภาพ เป็นภาพถ่ายระยะไกล เห็นเสือกำลังเดินท่องไปในเทือกเขาหิมาลัย ดูเวิ้งว้าง งดงาม ราวกับฉากที่สร้างขึ้นในโลกภาพยนตร์ จนได้รับคำชม และถูกยกย่อง เพราะโดยปกติแล้ว เสือดาวหิมะ ไม่ใช่สัตว์ที่จะถ่ายรูปได้ง่าย และไม่ค่อยจะมีใครได้เห็นมากนัก โดยเฉพาะบนเทือกเขาสูงขนาดนี้ แม้กระทั่งนักปีนเขาเอง ก็ไม่เคยได้เห็นเสือดาวหิมะในบริเวณนี้

 

3. หลังจากนั้น มีการค้นพบว่า ผู้ถ่ายภาพนี้ มีชื่อว่า กิตติยา พาว์โลว์สกี้ (Kittiya Pawlowski) เป็นช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน วัยเพียง 24 ปี หลังจากภาพถ่ายกลายเป็นไวรัล เธอจึงเขียนบทความลงในเว็บไซต์ส่วนตัว เล่าเบื้องหลังการเดินทางไปถ่ายภาพอย่างละเอียดว่า กว่าจะได้ภาพเหล่านี้มาเธอต้องเดินเท้ากว่า 165 กิโลเมตรไปกับไกด์ท้องถิ่นที่เนปาล แต่จุดที่เจอเสือ กลับไม่มีรายละเอียดมากนัก
  

4. ผ่านไปเดือนกว่า ภาพเสือดาวทั้ง 4 ภาพ ถูกแชร์ต่อจนเป็นไวรัล ก็เริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตว่า มีบางอย่างแปลก ๆ เกี่ยวกับภาพเซ็ตนี้ และตัวของช่างภาพเอง เช่น

 

  • ภาพถ่ายดูดี และสมบูรณ์แบบเกินไป เหมือนจัดวางตามใจสั่ง ดูเหนือจริงราวกับภาพวาดดิจิตอล 
  • บางภาพการตกของแสง และเงาดูแปลก ซึ่งหมายความว่า อาจเกิดจากการตัดแปะ
  • ในวงการช่างภาพสัตว์ป่าและภูเขา ไม่เคยมีใครได้ยินชื่อของกิตติยามาก่อน 
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือดาวหิมะบอกว่า โอกาสที่จะได้พบเสือดาวหิมะบริเวณธารน้ำแข็งนั้นไม่มี เพราะไม่มีอาหารให้มันกิน
     

เสือดาวหิมะ

5. จากนั้น ช่างภาพที่ชื่อกิตติยา ได้ส่งภาพเซ็ตนี้เข้าประกวดในหลายเวที หลายสาขา รวมทั้งขายภาพออกไปจำนวนมาก ยิ่งเป็นไวรัลก็ยิ่งขายดี จึงนำไปสู่การตรวจสอบ และวิเคราะห์ภาพถ่ายอย่างจริงจังโดยผู้เชี่ยวชาญ มีการส่งอีเมลขอภาพความละเอียดสูงจากกิตติยา ตามคอนแทคที่เธอให้ไว้เพื่อขายรูป ซึ่งเธอก็ส่งมาให้ พบว่าภาพเหล่านี้ ถ่ายโดยกล้องรุ่นเดียวกับที่เธอสะพายถ่ายรูปจริง แต่น่าแปลกที่ระบุวันที่เป็นปี 2018 และเมื่อขอไฟล์ดิบที่ยังไม่ผ่านการตกแต่ง เธอก็ไม่ตอบอีเมลอีกเลย 

 

6. กระบวนการตรวจสอบจับโป๊ะจึงเริ่มขึ้น โดยภาพที่เสือดาวหิมะนั่งอยู่บนภูเขาเหนือธารน้ำแข็ง จุดนั้นความสูงอยู่ที่ 6,300 เมตร แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือดาวหิมะที่มาร่วมวิเคราะห์ภาพถ่ายบอกว่า เสือดาวหิมะจะไม่ขึ้นไปเกินความสูง 5,500 เมตร ถึงมันจะชื่อเสือดาวหิมะ แต่มันไม่ได้ชอบลุยหิมะอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่กลับชอบอยู่ตามพื้นที่ที่มีหญ้า และหินมากกว่า โดยเฉพาะบนธารน้ำแข็งแบบนี้ไม่มีเหยื่อให้ล่า ซึ่งผิดวิสัยของเสือดาวอยู่แล้ว 

 

เสือดาวหิมะ

 

7. ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญพื้นที่ บอกว่า บางภาพเป็นไปไม่ได้ที่จะถ่ายให้ออกมาเป็นอย่างนั้น สัดส่วนจากจุดที่เสือเดินอยู่ กับธารน้ำแข็ง สันเขา แบคกราวนด์ต่าง ๆ องศาและทิศทาง ดูผิดเพี้ยนไปจากของจริง ยิ่งนำมาเทียบกับภาพถ่ายของนักสกีคนหนึ่ง ที่ถ่ายไว้เมื่อต้นปีตรงจุดเดียวกัน ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ามีการตัดต่อ โดยเฉพาะภาพขณะที่เสือดาวหิมะเดินผ่านเทือกเขาตระหง่านที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ที่มีคนแชร์มากที่สุด เมื่อนำไปเทียบกับสถานที่จริงพบว่า เทือกเขานี้เป็นแค่ยอดเขาบริวารเล็ก ๆ แต่มีการลบยอดเขาข้างเคียงออก และเติมหิมะให้หนาขึ้น เพื่อให้เทือกเขานี้ดูโดดเด่นและยิ่งใหญ่


8. จากการวิเคราะห์พบว่า 3 ใน 4 ภาพ (ภาพที่ถ่ายระยะไกลทั้งหมด) เป็นภาพที่ผ่านการตัดต่อแก้ไขตามที่สงสัยจริง โดยเกิดจากการนำภาพถ่ายหลายภาพมายำรวมกัน ตัดแปะ-ปรับแต่งให้ออกมาเป็นภาพที่สวยงามอลังการ ส่วนอีกภาพที่เสือนั่งอยู่บนเขา ด้านล่างเป็นธารน้ำแข็ง ก็เชื่อว่า มีการยืมภาพเสือมาจากที่อื่นเช่นกัน แต่ยังหาต้นตอภาพไม่เจอ รวมทั้ง กิตติยา มีตัวตนจริงหรือไม่

 

กิตติยา ขอบคุณภาพจากกิตติยา

 

9. รูปโปรโฟล์บนอินสตาแกรมของกิตติยา ที่เป็นภาพตัวเธอเองยืนถือกล้อง ฉากหลังเป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ พอเอาไปตรวจสอบก็พบว่า เป็นภาพตัดต่อทั้งหมด สุดท้ายทั้งเพจเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมของเธอ ล้วนถูกปิดไปหมดแล้ว

ภาพเปรียบเทียบ เสือดาวหิมะ ขอบคุณภาพจากalpinemag

10. ล่าสุด การขุดคุ้ยยังไม่จบ เพราะจับโป๊ะได้อีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ alpinemag ได้เผยแพร่ดราม่าภาพเสือดาวหิมะของกิตติยาว่า ไม่ใช่แค่เป็นภาพตัดต่อเท่านั้น แต่นิตยสารไปขุดเจอว่า ภาพเสือดาวหิมะตัวที่ปรากฎ เป็นภาพของช่างภาพอีกคน ซึ่งถ่ายที่มองโกเลีย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนปาล แล้วถูกตัดต่อเอาภาพเสือ มาแปะใส่ในภาพนั้น โดยที่เจ้าของภาพตัวจริง
ไม่ได้อนุญาต จนกลายเป็นคดีของการฉ้อโกงภาพถ่าย

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Poetry of Bitch และ เว็บไซต์ alpinemag.com


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ