เด่นโซเชียล

เปิดไอเดียบรรเจิด "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง อ่านแล้วดึงสติ ลดตายจากหลับใน

เปิดไอเดียบรรเจิด "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง อ่านแล้วดึงสติ ลดตายจากหลับใน

07 ธ.ค. 2565

เปิดไอเดียที่มา "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง เริ่มต้นจากหลับในเป็นเหตุ กรมทางหลวง ผุดแนวคิดสุดบรรเจิดตั้งคำถามดึงสติระหว่างขับรถ

หลังจากที่มี การโพสต์ภาพป้ายบอกทางริมถนน  เส้นหลัก 340 สุพรรณบุรี-บางบัวทอง ขาขึ้น ชัยนาท ในกลุ่ม Future of Thailand ซึ่ง "ป้ายจราจร "ข้างทางดังกล่าวมีข้อความระบุว่าเป็น เขตแก้ง่วง พร้อมคำถามสั้น ๆ ชวนคิดเช่น “โลมาเป็นปลาหรือไม่” และ “ฉลามวาฬเป็นฉลามหรือวาฬ”

 

 

 

เจ้าของโพสต์ยังระบุด้วยว่า “ป้ายแบบนี้ใครจะอ่าน ผมนี่ไง แล้วเดือดร้อนต้องหาป้ายเฉลยอีก แล้วป้ายเฉลยห่างไปตั้ง 2 กิโลเมตร มีเวลาให้พอเถียงกับคนข้าง ๆ ได้” โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ระบุว่า ไม่ง่วงแต่ปวดหัว

 

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายศรัณย์รัฐ พวงพัฒน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรี ที่ 1 ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกออนไลน์ ว่า  "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง ที่ปรากฎในโลกออนไลน์ขณะนี้ เป็นโครงการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่หลับใน ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง ได้ดำเนินการร่วมกับ สถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จัดทำ "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน  โดยทาง กรมทางหลวง มีไอเดียการทำ ป้ายจราจร เขตแก้ง่วง มาจากอัตราเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในบนทางหลวงมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในถนน 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อยุธยา และชลบุรี ดังนั้นจึงได้หาแนวทางที่จะแก้ง่วงให้ผู้ใช้รถใช้ถนน  และลดอัตราการอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จึงเกิดเป็น ป้ายจราจร ที่มีคำถามตามที่ปรากฎ อีกทั้งงานวิจัยยังพบว่าในระหว่างที่สมองถูกกระตุ้นให้คิดจะช่วยลดอาการง่วงได้

 

ป้ายจราจรเขตแก้ง่วง

นายศรันย์รัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบในการใช้ ป้ายจราจร แก้ปัญหาการ หลับในนั้น ทางสถาบันขนส่ง จุฬาฯ  ได้ทดลองดำเนินการในถนนที่พบว่ามีอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในบ่อยครั้ง ซึ่ง เขตแก้ง่วง ได้ทดลองทำในถนน 340 สุพรรณบุรี-บางบัวทองขาขึ้น ระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยหากประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวจะเห็น "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง พร้อมกับคำถามติดตั้งเอาไว้ จากนั้นคำตอบจะอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ข้างหน้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้ขับขี่มีสมาธิจดจ่อกับการหาคำตอบ หรือพูดคุยถกเถียงกับคนข้าง ๆ  มีสติในการขับรถมากยิ่งขึ้น นอกจาก "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง แล้ว โครงการฯ ยังได้มีการตีเส้นขรุขระริมขอบทาง โดยเส้นดังกล่าวจะทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกตัวทันทีหากกำลังขับรถออกนอกช่องทางจราจร  หรือกำลังจะขับรถตกไหล่ทาง

 

ป้ายจราจรเขตแก้ง่วง

 

โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการหลับใน ที่เป็นครั้งแรกที่ แขวงทางหลวงสุพรรณบุรี ที่ 1 กรมทางหลวง ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยทางทีมวิจัยได้มีการนำป้ายมาติดตั้งตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และจะทดลองไปจนถึงช่วงปลายปี ก่อนจะมีการสรุปว่า แนวคิดการทำ "ป้ายจราจร" เขตแก้ง่วง ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัตเหตุจากการหลับในได้มากน้อยเพียงใด

 

ระหว่างนี้ ทางแขวงการทางก็มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และประชาชนที่ใช้เส้นทางถึงวัตถุประสงค์ที่มีการนำป้ายดังกล่าวมาติดตั้ง  อย่างไรก็ตามคาดว่า ป้ายจราจร เขตห้ามง่วง จะช่วยให้ผู้ขับขี่เกิดความตื่นตัวระหว่างขับขี่อยู่ตลอดเวลา