เด่นโซเชียล

คืนนี้ห้ามพลาดชม "ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" 1 ปีมีครั้งเดียว ตกสูงสุด 20 ดวง/ชม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

NARIT ชวนชม "ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" ใน 1 ปีมีครั้งเดียว สามารถชมได้ตั้งแต่เวลา 22.30 น. จนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน อัตราเฉลี่ยตกสูงสุด 20 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) NARIT ได้ชวนชม ปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" (Orionid Meteors shower) ซึ่งจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 21 ตุลาคม นี้ โดยอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. เป็นต้นไปจนรุ่งเช้าขอวันที่ 22 ตุลาคม 2565 โดยมีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของ กลุ่มดาวนายพราน ทางทิศตะวันออก สำหรับปีนี้ในช่วงที่สามารถสังเกตเห็น ฝนดาวตก ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนเหมาะแก่การถ่ายภาพตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

 

"ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" (Orionid Meteors shower) หรือ ฝนดาวตกนายพราน เป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคมที่ ซึ่ง "ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20 - 22 ตุลาคม ของทุกปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวง ต่อชั่วโมง มีจุดกระจายออกมาจากบริเวณแขนของ กลุ่มดาวนายพราน (Orion) ใกล้กับ ดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 23.00 น.

 

"ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษชิ้นส่วนของ ดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่หลงเหลือจากการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายนของทุกปี เศษชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นก้อนอุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้เข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงเกิดการลุกไหม้ เราจึงเห็น ดาวตก พุ่งออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน

 

การสังเกต ฝนดาวตก ที่ดีที่สุด คือ มองด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหา กลุ่มดาวนายพราน ทางทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะมีดาว 3 ดวง อยู่ตรงกลางหรือเข็มขัดนายพราน

 

ความพิเศษของ "ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" แม้ว่าอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็น ฝนดาวตก ที่เกิดบริเวณ กลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเรียงเด่นที่มีความสว่างและมีดาวที่มีความโดดเด่น หากสามารถถ่ายภาพการกระจายตัวของ ฝนดาวตก มาได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงาม รวมทั้งเป็นฝนดาวตกในช่วง ปลายฝนต้นหนาว ทำให้มีโอกาสที่ดีที่ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยที่ใสเคลียร์ รวมทั้งปีนี้เราสามารถถ่ายได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า ทำให้มีโอกาสได้ภาพ ฝนดาวตก จำนวนมาก

 

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ ฝนดาวตก สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่หลังเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงที่มักจะมีโอกาสได้ภาพฝนดาวตก ประเภทไฟล์บอล เส้นยาวๆ นั้น จะอยู่ในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปเนื่องจาก เป็นช่วงที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับ ดาวตก ที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ และนอกจากนั้นในช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้าดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็น ดาวตก ที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ทำให้มีโอกาสได้ภาพดาวตกหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ กันอีกด้วย

 

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ