เด่นโซเชียล

เครื่องเป่ามือ ใน "ห้องน้ำ" ผวา ผลทดลองพบเชื้อโรคอื้อ แถมแพร่เชื้อได้ดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครื่องเป่ามือ ใน "ห้องน้ำ" สาธารณะ ผวา หลัง อ.เจษฎ์ เปิดผลทดลองพบเชื้อโรคอื้อ แถม เครื่องเป่ามือแบบลมร้อน ยังแพร่เชื้อจุลินทรีย์ได้ดีสุด ๆ แบคทีเรียสูงกว่ากระดาษชำระถึง 27 เท่า

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ "อ.เจษฎ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์   โพสต์ข้อความถึง เครื่องเป่ามือ ใน "ห้องน้ำ" สาธารณะ  โดยระบุ ว่า  เครื่องเป่ามือ ใน "ห้องน้ำ" สาธารณะ แพร่เชื้อจุลินทรีย์ได้ เป็นเรื่องจริง อันนี้ เป็นเรื่องที่ผมพอจะรู้อยู่แล้วนะ แต่เหมือนกับมีคนที่ยังไม่ทราบกันอยู่เยอะ เลยส่งมาถามกันใหญ่ ว่าจริงหรือเปล่า ? ที่เพจ MySci (ดูลิงค์ด้านล่าง) เอาภาพเหมือนการทดลองเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์จาก เครื่องเป่ามือแบบลมร้อน ใน ห้องน้ำสาธารณะ ไปเพาะเลี้ยงเชื้อ แล้วพบเชื้อเจริญเติบโตขึ้นมาเต็มจานเพาะเชื้อ (ดูคลิปการทดลองนี้คลิกที่นี่

รวมทั้งอ้างถึงงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย University of Leeds ว่าตรวจสอบลมจากเครื่องเป่ามืออัตโนมัติ ใน "ห้องน้ำ" พบว่ามีเชื้อแบคทีเรียสูงถึง 27 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกระดาษชำระ และเครื่องนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อใน "ห้องน้ำ"  ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวของมหาวิทยาลัยลีดส์นี้ มีจริงนะครับ  ในขณะที่ภาพจากคลิปการทดลองดังกล่าวนั้น ก็น่าจะเป็นจริง เพียงแต่ไม่รู้เค้าตั้งใจทำให้โอเวอร์ไปหรือเปล่า (เช่น แกล้งเลี้ยงเชื้อนานๆ ให้เชื้อโตเยอะๆ) คำสรุป จากเรื่องนี้ทั้งหมดคือ เรายังควรที่จะล้างมือให้สะอาดเมื่อเข้าห้องน้ำและทำให้มือแห้ง โดยวิธีที่ถูกสุขลักษณะที่สุด กลับเป็นการใช้ "กระดาษเช็ดมือ" / หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่ามือแห้ง แบบ เจ็ตแอร์ (jet air dryer) ซึ่งแพร่กระจายเชื้อได้มากที่สุด /  และจริงๆ แล้ว โอกาสที่เราจะได้รับเชื้อโรคอันตรายจากการเข้าห้องน้ำนั้น ยังน้อยกว่ามากๆ เมื่อเทียบกับการอยู่ใกล้ชิดโดยตรงกับคนอื่น ที่เป็นผู้ติดเชื้อ 

เครื่องเป่ามือ

1. "เครื่องเป่ามือ แพร่กระจายเชื้อ มากกว่ากระดาษเช็ดมือ" งานวิจัยปี 2014 ของมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศสหราชอาณาจักร 
- คณะนักวิจัย นำโดยศาสตราจารย์ Professor Mark Wilcox จาก School of Medicine (ประมาณคณะแพทยศาสตร์) ได้ทดลองด้วยการทำมือให้เปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่อันตราย ก็คือ แล็กโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งปรกติไม่พบในห้องน้ำสาธารณะ เพื่อให้เหมือนกับเป็นมือที่เปื้อนเชื้อเพราะว่าล้างไม่สะอาด


- จากนั้น พวกเขาได้เก็บตัวอย่างอากาศที่อยู่รอบๆ เครื่องเป่ามือ และที่ระยะ 1 เมตรและ 2 เมตรห่างจากเครื่อง เพื่อดูว่ามีเชื้อแล็คโตบาซิลลัสจากมือ ไปปะปนอยู่ในอากาศตรงนั้นหรือไม่
- พบว่า เชื้อแบคทีเรียที่ตรวจพบในอากาศ ตรงเครื่องเป่ามือแบบ เจ็ตแอร์ (ดูในรูปประกอบ ที่เป็นภาพกราฟฟิก) มีปริมาณมากกว่าเชื้อในอากาศ ตรงเครื่องเป่ามือแบบ พ่นลมร้อน (warm air dryer) ถึง 4.5 เท่า / และมากกว่าใช้กระดาษเช็ดมือถือ 27 เท่า


- นอกจากนั้นยังพบว่า แม้จะเป่าให้มือแห้งเป็นเวลา 15 วินาทีแล้ว ก็ยังตรวจพบเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่ในอากาศได้นานเกินกว่านั้น / โดยประมาณครึ่งหนึ่งของเชื้อทั้งหมดที่เก็บได้นั้น ถูกพบแม้จะเป่ามือเสร็จไปแล้วถึง 5 นาที / แถมยังพบเชื้อได้อยู่ดี แม้จะเป่าเสร็จไปแล้วนานถึง 15 นาที
- ดังนั้น การใช้เครื่องเป่ามือให้แห้งในห้องน้ำสาธารณะ กลับเป็นการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย จากมือของเราออกไปในอากาศรอบตัวเรา โดยที่เราก็ไม่รู้ตัว และในทางตรงกันข้าม เราเองก็อาจจะได้รับเชื้อจากคนอื่นๆ ที่เป่ามือของเขาเช่นกัน 


2. "เครื่องเป่ามือ ดูดเชื้อแบคทีเรียจากอากาศ มาเป่าใส่มือของเรา" งานวิจัยปี 2018 ของมหาวิทยาลัยคอนเน็คทิกัต และมหาวิทยาลัยควินนิเพียก ประเทศสหรัฐอเมริกา 
- ถ้าดูตามแค่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยลีดส์ เราก็น่าจะกังวลแค่กรณีที่ล้างมือไม่สะอาด แล้วเชื้อแบคทีเรีย "จากมือเรา" มันพุ่งออกมาตามแรงลมเป่าของเครื่องเป่ามือเท่านั้น 
- แต่งานวิจัยต่อมาของมหาวิทยาลัยคอนเน็คทิกัต และมหาวิทยาลัยควินนิเพียก ได้เสนอว่า เครื่องเป่ามือ แบบ "ลมร้อน" นั้น มันอาจจะดูดเอาเชื้อแบคทีเรียในอากาศของห้องน้ำ แล้วเป่าลงมาที่มือของเรา (แม้ว่าจะล้างมือสะอาดแล้วก็ตาม) 

 

- คณะนักวิจัยได้นำเอาจานเลี้ยงเชื้อ มาเก็บตัวอย่างเชื้อจากอากาศในห้องน้ำตำแหน่งต่างๆ แล้วกลับไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ พบว่า ถ้าเก็บเชื้อจากอากาศในห้องน้ำเป็นเวลา 2 นาที โดยที่ปิดเครื่องเป่ามือไว้ จะมีเชื้อโตในจานเพียงแค่ 1 โคโลนี หรือไม่มีเลย
- แต่จานเพาะเชื้อที่เก็บจากลมร้อน ที่เป่าจากเครื่องเป่ามือเป็นเวลาเพียง 30 วินาที กลับได้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ช่วง 18-60 โคโลนี และที่พบได้มากที่สุด มากถึง 254 โคโลนี 
- นักวิจัยอยากรู้ว่า เชื้อแบคทีเรียที่ตรวจพบนั้น มันเจริญเติบโตอยู่ในเครื่องเป่ามือ หรือว่ามันโดนดูดจากอากาศโดยรอบเครื่อง กันแน่ ? จึงได้เอาแผ่นกรองระดับเฮป้า (HEPA filter) ซึ่งกรองเชื้อจุลินทรีย์ได้ ไปติดไว้ที่เครื่อง ซึ่งทำให้จำนวนเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกเป่าออกมาจากเครื่องนั้นลดลงไปถึง 75% (และเมื่อตรวจสอบที่หัวเป่าลมของเครื่องแล้ว ก็ไม่ค่อยพบเชื้อแบคทีเรียด้วย) พวกเขาจึงสรุปว่า เชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่ถูกเป่าออกมาจากเครื่องนั้น ก็คือเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศของห้องน้ำนั่นเอง 

 

- แล้วเชื้อแบคทีเรียมันมาอยู่ในอากาศของห้องน้ำได้อย่างไร ? คำตอบก็คือ เวลาที่เรากดชักโครกกำจัดอุจจาระลงไป โดยไม่ปิดฝานั้น มันจะเกิดละอองฝอยฟุ้งขึ้นมาจากชักโครกด้วย ซึ่งจะมีเชื้อจุลินทรีย์จากอุจจาระปนอยู่ ซึ่งกลุ่มละอองฝอยนี้สามารถกระจายไปได้ไกลถึง 6 ตารางเมตร 

 

- อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยนี้ เชื้อจุลินทรีย์ที่ตรวจพบนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในคน ยกเว้นเชื้อ Staphylococcus aureus สแตฟฟีโลคอคคัส ออเรียส / เชื้อบางตัวที่พบ เช่น Acinetobacter อะซินีโตแบคเตอร์ สามารถก่อโรคได้ แต่มักจะเป็นกรณีของคนป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ