จากกรณี พระชาตรี เหมพนฺโธ เจ้าอาวาสวัดพุทธวิหาร วัดไทยแห่งเดียวในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ไลฟ์เฟซบุ๊กบางช่วงได้กล่าวพาดพิงถึง แพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร ส่วนแพรรี่ ออกมาไลฟ์ในเฟซบุ๊กตอบโต้พระชาตรี อย่างดุเดือด ถึงแม้ในส่วนของ พระชาตรี จะออกมาโพสต์ขอโทษผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัวแล้วก็ตาม แต่ประเด็นดูเหมือนจะลุกลามใหญ่โต เมื่อ ทนายธรรมราช The Lawyer of legality ได้แจ้งความเอาผิดแพรรี่ ในข้อหาความผิดดูหมิ่นพระชาตรี หรือคณะสงฆ์ ทำให้คณะสงฆ์ได้รับความเสื่อมเสีย จนเรื่องราวบานปลาย ทำให้หลายคนอยากรู้ว่า พระชาตรี เป็นใคร จนกลายเป็นกระแสดังบนโซเชียล
พระชาตรี เหมพันธ์ หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.พระชาตรี เหมพนฺโธ เป็นพระในสังกัด วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พื้นเพเป็นชาวจังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อปี พ.ศ.2513 ปัจจุบันอายุ 52 ปี พระชาตรี เริ่มบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยก่อนหน้านั้น เคบบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยเป็นการบวชเณรเนื่องในวาระฉลงอกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
พระชาตรี มีนิสัยรักการนั่งสมาธิมาตั้งแต่เด็ก มีครั้งหนึ่งที่ท่านนั่งสมาธิแล้วเห็นนิมิต ว่าตัวเองต้องไปโกยหิมะ จึงเชื่อมั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ว่าต้องได้ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศแน่นอน ซึ่งนิมิตของพระชาตรีก็เป็นจริงในอีกหลายสิบปีต่อมา เนื่องจากพระชาตรีได้รับทุนการศึกษาต่อ ณ ประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2539
ก่อนหน้าที่จะได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศรัสเซีย พระชาตรีได้ศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) โดยเลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าทักษะทางภาษาจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเผยแพร่ศาสนาพุทธในอนาคต
โดยเป้าหมายแรกของพระชาตรีหลังสำเร็จการศึกษา คือการเลือกเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย แต่ในขณะนั้นก็สอบได้ทุนจากมหาวิทยาลัยเซน์ปีเตอร์สเบิร์กด้วย จึงได้ขอคำปรึกษาจากหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ของพระชาตรีในขณะนั้น
และจากคำแนะนำของหลวงพ่อปัญญา ก็ทำให้พระชาตรีตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศรัสเซีย ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท เมื่อปี พ.ศ. 2540 จนกระทั่งจบปริญญาเอกใบแรก จากคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียนแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก และปริญญาเอกใบที่สองจากคณะรัฐศาสตร์การทูต ภาควิชายุโรปศึกษา มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
หลังจากเรียนจบปริญญาเอกใบที่สอง พระชาตรีก็ได้รับอนุมัติให้เรียนในหลักสูตรที่สูงกว่าระดับปริญญาเอก เรียกว่า Post Doctorate Programme นับว่าเป็นชาวไทยและชาวเอเชียคนแรก ที่ได้เรียนในระดับนี้ จากคณะรัฐศาสตร์การทูต มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษา พระชาตรีก็เดินทางกลับประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นพระวิทยากรสอนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่ก็มีความคิดว่าสิ่งที่ร่ำเรียนมา น่าจะทำคุณให้แก่พระพุทธศาสนาได้มากกว่านี้ พระชาตรีจึงตัดสินใจกลับไปยังประเทศรัสเซีย ในฐานะพระธรรมทูต ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้พระชาตรี เริ่มทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซีย
นอกจากความสามารถด้านวิชาการ และความสามารถด้านการเทศนาธรรมของพระชาตรีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่า ไม่ธรรมดา คือการที่ได้เป็นพระอาจารย์สอนสมาธิ ให้กับ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินโดยปูตินจะนิมนต์พระชาตรีไปพบ เฉลี่ยปีละประมาณ 3 ครั้ง เพื่อสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทย เหตุนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระชาตรีได้ฝึกสมาธิให้แก่ปูติน แต่เป็นการทำสมาธิแบบง่าย ๆ เน้นที่การทำใจให้สงบ โดยพระชาตรีเคยกล่าวไว้ว่า คนที่เป็นผู้นำก็จะมีปัญหาในชีวิตต่างจากคนอื่น ดังนั้น การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะเป็นทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นได้
พระชาตรี เป็นพระสงฆ์ที่มีจริยวัตรงดงาม ประพฤติตนทำแต่ความดี มุ่งเผยแพร่ศาสนาเพียงอย่างเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่า พระชาตรี เหมพันธ์ หรือ พระชาตรี เหมพันโธ เป็นเรี่ยวแรงหลักในการทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซียเบ่งบานมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน มีคนรัสเซียสนใจเข้าเรียนวิปัสสนากรรมฐานจำนวนมาก แต่ละเดือนต้องจอง บางคนถึงกับต้องจองกันเป็นปี ถือได้ว่าเป็นอริสงฆ์อีกองค์หนึ่ง ที่ทำให้คุณให้แก่พระพุทธศาสนามากมาย
และด้วยใจรักในการพัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนา ก็ทำให้ท่านได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธวิหาร และมีลูกศิษย์ชาวรัสเซียมาปฏิบัติธรรมด้วยเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นพระธรรมทูตไทยหนึ่งเดียวในรัสเซีย ที่ดำเนินมากว่า 25 ปี
ขอบคุณที่มา : Chatree Hemapandha
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote
https://www.komchadluek.net/entertainment/524524
ข่าวที่เกี่ยวข้อง