เด่นโซเชียล

ทำยังไง เงินล้าน จาก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เงินออม ของ ลูกจ้าง ไว้ใช้ยามชรา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เงินออม ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน สอนวิธีคำนวณ สิทธิประโยชน์ หาก ลาออก ก่อนเกษียณ วางแผนออมยังไงให้ได้ เงินล้าน

"มนุษย์เงินเดือน" กับ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" สำคัญยังไง เขาพูดกันว่า จะมี เงินออม เงินล้าน ใช้ยามเเก่จริงไหม โพสต์นี้มีคำตอบ หลังชาวเน็ตตั้งกระทู้สงสัยเหล่ามนุษย์เงินเดือนจะมีเงินออมใช้ยามเกษียณกันเท่าไรแล้ว

A ถาม : มนุษย์เงินเดือน แต่ละท่านมีเงินออมใน "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เท่าไรครับ
"ผมทำงานมา 8 ปีได้ ตอนนี้มีเงินในกองทุน 3 แสนกว่าๆ หัก 5% บวกสบทบของบริษัท หวังว่าจะมีเงินก้อนนี้พอเกษียณตอนแก่บ้าง แต่ละท่านเป็นไงกันบ้างครับ"

 

B ตอบ : ทำงานมา 20 ปี มี 4 ล้าน เหลืออายุงานอีก 14

 

c ตอบ : ทำงาน 16 ปี​ ตอนออกงาน​ ได้ 8 แสน​  ตามใช้หนี้บัตร​ เหลือ​ติดตัว 1 แสน

 

D ตอบ : generation ที่กำลังเกษียณอยู่ เริ่มทำงานก่อนมีกองทุน จะสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เต็มอายุงาน ขาดไปเป็นสิบปี เอามาเทียบกับปัจจุบันได้ยาก ถ้านับเด็กที่เพิ่งทำงานปีนี้จนเกษียณ ด้วยฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่สูง เวลาสะสมผลประโยชน์ที่ยาวนานถึง 30 ปี จะได้เกินล้านทุกคน เฉลี่ยน่าจะ 2-5 ล้าน ถ้าตลาดการเงินไม่วิบัตินะ

 

E ตอบ : ทำงานอยู่ที่เดิม มา 15 ปี มีเงินอยู่ในกองทุน 800,000 รวมของบริษัทด้วย พึ่งมาหักเก็บเดือน ละ 15% ของส่วนตัว เมื่อ 3 ปีผ่านมาแล้ว แต่ก่อน 10% ส่วนออฟฟิตสมทบ  5%  สมัยก่อน ออฟฟิศให้ 10%   แต่ผลประกอบการไม่ค่อยดี เลยปรับลดลง ถือว่าเป็นเงินเกษียน หรือ โดนไล่ออก หรือ ตกงานไป  เวลาฉุกเฉิน

 

อ่านมาถึงตรงนี้เเล้วสงสัยไหมว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" คืออะไร หากเป็น "มนุษย์เงินเดือน" มีสิทธิได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกคนไหม
 

"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" (Provident Fund : PVD) คืออะไร

"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund" คือ กองทุนที่นายจ้าง และ บลจ. จัดตั้งขึ้นให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยลูกจ้างสามารถเลือกจ่าย เงินสะสม ได้ตั้งแต่ 2%-15% ของเงินเดือน ซึ่งนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบ เพิ่มให้อีกตามนโยบายของบริษัท ถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นตรงที่เงินสมทบจากนายจ้างเปรียบเสมือนเราได้เงินจากบริษัทเพิ่ม

 

สิทธิประโยชน์จาก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" 

1. เงินสะสม เราสามารถเพิ่ม หรือลดลงได้

เงินสะสมของลูกจ้างที่นำไปรวมกับเงินสมทบของนายจ้าง จะถูกนำไปลงทุนเพื่อให้เงินนั้นงอกเงยมากขึ้น โดยเราเองก็สามารถปรับจำนวนเงินที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ตั้งแต่ 2%-15% ของเงินเดือน แน่นอนว่าถ้าลูกจ้างสะสมเงินมากขึ้น ก็จะมีเงินใช้ยามเกษียณมากขึ้นไปด้วย ใครที่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน แนะนำให้สะสมให้มากที่สุด เท่าที่สามารถออมไหว ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้ก็ขึ้นกับนโยบายของบริษัท ว่าจะให้ปรับได้ปีละกี่ครั้งและกำหนดเพดานเงินสะสมหรือไม่

 

2. เงินสมทบมีลักษณะอย่างไร?

สำหรับเงินสมทบที่บริษัทให้นั้น ก็จะขึ้นกับนโยบายของบริษัท ว่าเป็นแบบคงที่ตลอดอายุงานของพนักงาน หรือจะเพิ่มให้สูงขึ้นตามอายุงาน เช่น 

- ทำงานปีที่ 0-3 บริษัทจะสมทบเงินให้ 3%

- ทำงานปีที่ 3-5 บริษัทจะสมทบเงินให้ 5%

- ทำงานปีที่ 5-7 บริษัทจะสมทบเงินให้ 7% 

- และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ทำงานสูงสุดคือ 15% 

ตัวอย่างคำนวณเงินสมทบ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" 

นาย A มีเงินเดือน 20,000 บาท 

นาย A ต้องเลือกก่อนว่าจะสะสมเงินกี่ % เช่น นาย A อาจจะเลือก 5% ดังนั้น เงินเดือนที่ได้มา ก็จะถูกเก็บออมไว้ 1,000 บาททุกเดือน โดยเหลือเงินไว้ใช้ประมาณ 19,000 บาท 

ส่วนเงินสมทบที่นายจ้างให้มา จะเป็นดังนี้

 - ถ้าทำงานในปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 : บริษัทจะทยอยสะสมให้กับนาย A ทุกเดือน เดือนละ 3% คือ 600 บาท

 - ถ้าทำงานในปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 : บริษัทจะทยอยสะสมให้กับนาย A ทุกเดือน เดือนละ 5% คือ 1,000 บาท

 - ถ้าทำงานในปีที่ 5 ถึงปีที่ 7 : บริษัทจะทยอยสะสมให้กับเราทุกเดือน เดือนละ 7% คือ 1,400 บาท

และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ทำงาน จากนั้นทั้งเงินสะสมและเงินสมทบก็จะถูกนำไปบริหารลงทุนให้เราได้ผลตอบแทน หรือที่เราเรียกว่า "ผลประโยชน์" ขึ้นมา

 

3. สิทธิการได้เงินสมทบ 
เงินสมทบจากข้อ 2 ถ้าลูกจ้างลาออกก่อนครบเงื่อนไข อาจจะได้เงินมาไม่เต็มจำนวน ซึ่งจะได้จำนวนมากหรือน้อยก็ขึ้นกับอายุงานที่กฎระเบียบของบริษัทระบุไว้

ตัวอย่างคำนวณเงินสมทบที่ได้รับกรณีลาออกก่อนครบเงื่อนไข
อายุงาน                                              อัตราเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ
                                                          ที่กองทุนจะจ่ายเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพ

น้อยกว่า 1 ปี                                               0%
ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 ปี                     20%
ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี                     40%
ตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4 ปี                     60%
ตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี                     80%
ตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป                                      100%

    
นาย A ทำงานมาแล้ว 4 ปี มีเงินสะสมจากเงินเดือนตัวเอง 100,000 บาท และมีเงินสมทบจากบริษัท 100,000 บาท แต่บังเอิญว่าลาออกมาก่อนครบ 5 ปี ตามเงื่อนไข คือ นาย A จะได้เงินสมทบเพียงแค่ 80% คือ 80,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมที่ตัวเองมีก็จะเป็น 180,000 บาท 

 

4. แผนการลงทุน Employee’s Choice คืออะไร

หากแปลง่าย ๆ คือการให้ ลูกจ้าง เลือกลงทุน หรือ เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ เพราะก่อนหน้านี้ กองทุนแต่ละกองจะมีเพียง 1 นโยบาย ลูกจ้างจึงไม่มีตัวเลือก นายจ้างกำหนดนโยบายใดไว้ก็ต้องเลือกลงทุนแบบนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตราสารหนี้ ทำให้ลูกจ้างบางกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้ในระดับสูงได้ กลับเสียโอกาสที่อาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าและการมีเงินเกษียณที่เยอะขึ้น

 

ในปัจจุบัน มีนายจ้างหลายรายที่จัดตั้งกองทุนโดยมีนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกแผนการลงทุนที่มีทั้งความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง หรือเสี่ยงสูง ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง บางรายยังเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถผสมสัดส่วนการลงทุนได้เองด้วย

 

5.สิทธิอื่น ๆ ที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้าง

5.1 ใครเป็นคนบริหารจัดการ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"  และ มีนโยบายอะไรให้ลงทุนบ้าง 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ใดเป็นผู้ดูแลเงินก้อนนี้ ผู้จัดการกองทุนเป็นใคร มีประสบการณ์ในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ผลตอบแทนของกองทุนที่ผ่านมาดีกว่ากองทุนอื่น ๆ หรือไม่ มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ แพงไปไหมเมื่อเทียบกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่อื่น ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนที่ทำให้เงินของกองทุนมีโอกาสเติบโตได้ หาก บลจ. ที่ใช้บริการอยู่บริหารจัดการลงทุนได้ไม่ดี ในฐานะเจ้าของเงินพวกเราต้องช่วยกันพิจารณาในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ บลจ. ที่ดีเข้ามาดูแลให้เงินที่เราเก็บออมมาลงทุนเพื่อการเกษียณนั้นเติบโตงอกเงยได้อย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้ ต้องทราบด้วยว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทมีกี่นโยบายให้เลือก เพราะว่ายิ่งมีแผนให้เลือกจำนวนมาก ก็จะเลือกแผนลงทุนได้เหมาะกับตนเองมากขึ้น

 

5.2 ลูกจ้างต้องเข้าใจเรื่องการลงทุน และสิทธิในการปรับแผนการลงทุน
ก่อนที่จะเลือกแผนการลงทุน ลูกจ้างควรทำความเข้าใจ การลงทุน ด้วยเหมือนกัน เช่น การลงทุนตราสารหนี้, การลงทุนในหุ้น รวมไปถึงสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ เช่น ทองคำ อสังหาฯ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในต่างประเทศด้วย อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เพราะว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล แต่ควรเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนเบื้องต้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง 

โดยการปรับแผนการลงทุน หรือ การปรับสัดส่วนการลงทุน นั้น จะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในนโยบายของ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" แต่ละที่ บางกองทุนเปิดให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกปี และ บลจ. ส่วนใหญ่จะมี application และ website ให้เราสามารถเข้าไปดูเงินสะสม เงินสมทบ ผลตอบแทน และนโยบายที่เลือกลงทุนได้

 

5.3 ต้องทราบว่าใครเป็นกรรมการ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" 

ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราต้องการทราบข้อมูลรายละเอียด หรือสิทธิประโยชน์ที่เรามี หรือว่าต้องการเพิ่มเติมแผนการลงทุนของเราให้มีรายละเอียดมากขึ้นเราจะได้แจ้งให้ทางกรรมการกองทุนทราบได้ เพื่อรักษาสิทธิของพวกเรา รวมถึงการเลือกผู้บริหารจัดการกองทุน เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากการลงทุนที่ดีที่สุด

 

6. หากต้องออกจาก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" มี สิทธิประโยชน์ อะไรบ้าง

กรณีออกจากกองทุนก่อนกำหนดจะเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีด้วย ซึ่งต่างจากกรณีทำงานจนเกษียณและถอนเงินตามเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นภาษี กฎหมายกำหนดว่าหากลูกจ้างออกจากกองทุน จะต้องได้รับเงินภายใน 30 วัน ดังนั้น ควรรีบแจ้งคณะกรรมการกองทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ และเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อม

การลาออก
กรณีที่ 1
เงื่อนไข
 - การลาออกจากกองทุน แต่ไม่ลาออกจากงาน
 - ลาออกจากงานอายุงาน < 5 ปี


ผลที่ได้รับ คือ ไม่สามารถใช้สิทธิแยกคำนวณภาษี ต้องนำเงินที่ได้รับไปคำนวณภาษีเงินได้ทั้งจำนวน

 

กรณีที่ 2
เงื่อนไข ลาออกจากงานและอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป


ผลที่ได้รับ คือ นำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยสามารถแยกยื่นจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเท่ากับ 7,000 บาท คูณอายุงาน (ปี) เมื่อลบกันแล้ว เหลือเท่าไหร่ให้นำมาหักค่าใช้จ่ายได้อีก 50% หลังจากนั้นนำจำนวนเงินที่เหลือไปคำนวณภาษีในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เงินก้อนนี้จะไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้น 150,000 บาทแรกเหมือนการคำนวณตามวิธีเงินได้สุทธิ

 

ตัวอย่าง 
นาย B ได้รับเงินจากกองทุนมา 500,000 บาท ด้วยอายุงาน 15 ปี
เงินก้อนนี้นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 500,000 – (7,000x15ปี) = 395,000 บาท
จากนั้นก็นำ 395,000 นั้นมาหักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง 395,000/2 = 197,500บาท
 และนำเงิน 197,500 บาท ไปคำนวณภาษี โดยจะเสียในอัตรา 5% หรือเท่ากับ 9,875 บาท
เพราะเงินก้อนนี้ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้น 150,000 บาทแรกนั่นเอง

 

ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ ที่จะได้รับเงินสบทบ และผลประโยชน์ 100% เต็ม และไม่เสียภาษีด้วยก็มี เช่น พนักงานที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือ เกษียณอายุ โดยเราสามารถตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ที่กรรมการกองทุน และ บลจ. ที่ดูแล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

นอกจากนี้ เมื่อลูกจ้างออกจากงาน ย้ายงาน สามารถคงเงินไว้ในกองทุนได้ โดยยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ของกองทุนอีกด้วย เพราะ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ลาออกจากงานแล้ว สามารถคงเงินในกองทุนได้ โดยสามารถเอาเงินก้อนที่สะสมคงไว้ในกองทุนได้นานเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องบอกกับทาง บลจ. ว่าจะคงไว้กี่ปี และต้องไม่ขัดกับข้อบังคับของกองทุนด้วย เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ และหากที่ทำงานใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถย้ายเงินก้อนนี้ไปที่ทำงานใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

 

จุดที่ดีก็คือ ระหว่างที่กองทุนทำงานทำเงินให้เรานั้น ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากเงินที่เราเอาไว้ในกองทุนนั้น จะยังคงได้รับอย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกจ้างได้ 100 บาท ณ วันที่ลาออก แต่ยังคงเงินไว้ในกองทุน ผ่านมา 3 ปี อาจจะได้รับเงินเพิ่มเป็น 150 บาท หากกองทุนทำผลตอบแทนได้ดี

 

"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" จ่ายเงินให้กับสมาชิกเป็นงวด ๆ ให้หลังการเกษียณ

คล้ายเป็น ระบบบำนาญ ของลูกจ้างเอกชน โดยสามารถที่จะบอกกับทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ว่า ให้เอาเงินที่เราสะสมไว้ในกองทุนนั้นทยอยส่งให้ทุก ๆ เดือน หรือทุก ๆ ปีก็ได้ ขึ้นกับข้อตกลง (มีค่าธรรมเนียมรายปีไม่เกิน 500 บาท) ที่สำคัญคือกองทุนยังคงทำงานให้กับเรา อย่างน้อยก็มีคนคอยบริหารเงินให้กับเราได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะการเกษียณ แล้วก็ตาม

ทำยังไง เงินล้าน จาก &quot;กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ&quot; เงินออม ของ ลูกจ้าง ไว้ใช้ยามชรา

ทำยังไง เงินล้าน จาก &quot;กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ&quot; เงินออม ของ ลูกจ้าง ไว้ใช้ยามชรา

คลิกอ่านกระทู้พันทิป 
ขอบคุณข้อมูล จากสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำกับหลักทรัพย์

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ