เด่นโซเชียล

เกิดอะไรขึ้น เมื่อเด็ก ป.3 "บูลลี่" Bullying สั่งเพื่อนกราบเท้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุกข์ของครอบครัว เมื่อเกิดเหตุ เด็ก ป.3 "บูลลี่" Bullying สั่งเพื่อนกราบเท้า และฝันร้าย 30 ปี ของคนที่ถูกเเกล้ง บูลลี่ การกลั่นแกล้ง ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

ประสบการณ์ความเจ็บปวดจากการถูก "บูลลี่"  Bullying ตั้งเเต่วัยเยาว์ กลายเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนมานานนับ 30 ปี บทเรียนจากเด็ก ป.1 สู่เคส เด็ก ป.3 ปัญหาการกลั่นแกล้งรังเเกที่ผู้ใหญ่ ต้องหยุดคิดว่า เป็นเพียงเรื่องของเด็กเล่นกัน  

 

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต รายงานว่า การ Bullying หรือ การกลั่นแกล้ง รังแกในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ โดยประเภทของการกลั่นแกล้ง มี 4 ประเภท

- การกลั่นเเกล้งทางร่างกาย เช่น การตบตี ชกต่อย การผลัก 

- ทางสังคมหรือด้านอารมณ์ เช่น ยั่วยุ ให้เพื่อนๆ แบ่งแยก ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจ

- ทางวาจา ทางคำพูด เช่น ดูถูก เสียดสี นินทา เพื่อให้เกิดความเจ็บปวด

- Cyberbullying : การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โพสต์ข้อความทำร้าย เพื่อให้อีกฝ่ายอับอาย เจ็บปวดและเสียใจ 


ซึ่งการ "บูลลี่"  Bullying หรือ การกลั่นแกล้ง รังแก นั้นส่งผลกระทบทำให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง มีเเนวโน้มออกจากโรงเรียนกลางคัน มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ซึ่งจะส่งผลยาวไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้

 

ส่วนผู้กระทำการกลั่นแกล้งผู้อื่นนั้น อาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ  มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก และคนใกล้ตัว และอาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต

ล่าสุด กรณี "บูลลี่"  Bullying หรือ การกลั่นแกล้ง รังแก เกิดเหตุขึ้นกับเด็ก ป.3 บูลลี่เพื่อน เมื่อถูกตอบโต้กลับ ถึงกับสั่งให้เพื่อนขอโทษด้วยการกราบเท้า โดยกรณีนี้ ผู้ปกครอง หรือพี่ของเด็กที่ถูกบูลลี่ ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า 

 

เด็กคนนี้มาเตะน้องเราแล้ว bully น้องเราต่าง ๆ นานา เพราะน้องเรามีรูปร่างอ้วน น้องเราก็โกรธมากเลยหยิบก้อนหินปาไปโดนเท้าเด็กคนนั้นจนเจ็บและร้องไห้ แล้ววันต่อมาน้องเราก็รู้สึกผิดเลยไปขอโทษ แต่เด็กคนนั้นบอกว่าไม่พอ น้องเราเลยถามว่าจะให้ทำยังไง 

 

เด็กคนนั้นก็บอกให้กราบเท้า และด้วยความที่น้องเราไม่มีเพื่อนแล้วกลัวว่าเพื่อนจะไม่เล่นด้วย
น้องเราก็เลยกราบลงไป แต่เด็กคนนั้นกลับบอกว่ายังไม่พอและยังด่า ยัง bully ยังแกล้งน้องเราเหมือนเดิม

 

พอเรากับพ่อได้ยินน้องเล่าก็โกรธมาก ๆ รู้สึกว่าทำไมเด็กคนนั้นต้องทำกับน้องเราขนาดนี้ เราเลยให้น้องสาวเราไปถามความจริงจากเด็กคนนั้น เด็กคนนั้นก็ยอมรับ

 

น้องสาวเราเลยพูดสั่งสอนไปแต่เด็กคนนั้นก็ทำลอยหน้าลอยตา จริง ๆ ทุกคนในบ้านรู้เรื่องที่น้องเราโดน bully มาตลอดก็บอกให้น้องสู้กลับ และพยายามไม่เข้าไปยุ่งเพราะมันเป็นเรื่องของเด็ก แต่ครั้งนี้มันเกินไปมาก ๆ ถึงขั้นให้กราบเท้ากันเลย ทั้ง ๆ ที่เรียนอยู่แค่ ป.3 เท่ากัน เลยอยากจะถามทุกคนว่าถ้าเป็นทุกคนจะทำยังไงกับเหตุการณ์นี้คะ ??? เพราะเราคิดแต่เรื่องนี้มาทั้งวัน ไม่อยากจะขู่เด็กหรืออะไรแต่ในฐานะคนในครอบครัว คือมันทนไม่ได้กับเรื่องแบบนี้  

ปล.พูดตรง ๆ ว่าอยากจะให้เด็กคนนั้นมากราบน้องเราคืนด้วยซ้ำ
 

จากเหตุการณ์ "บูลลี่" Bullying ที่เกิดขึ้นมีการเข้ามาเเสดงความคิดเห็น คอมเมนต์ ว่า จขกท. และครอบครัวต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะเมื่อเด็กโดนกระทำต้องหาทางช่วย จะช่วยในที่ลับหรือที่แจ้งก็ว่าไป อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของเด็ก ๆ เลยไม่อยากยุ่ง รอจนเรื่องใหญ่โต เพราะเด็กถูกทำร้ายจิตใจไปเยอะแล้ว การถูกบังคับให้กราบเพื่อนรุ่นเดียวกัน แถมยังโดนแกล้งต่อ เหตุการณ์นี้จะเป็นแผลในใจของเด็กไปตลอด หาก จขกท. คุยกับครูที่โรงเรียน ปรึกษากับผู้ปกครองของอีกฝ่าย เรื่องอาจจะไม่มาถึงขนาดนี้ก็ได้ ควรหยุดความคิดที่ว่าเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ไม่อยากยุ่ง

 

ขณะที่เจ้าของเรื่อง ได้เข้ามาอธิบายเพิ่มเติมว่า น้อง และคู่กรณี อยู่คนละโรงเรียนกัน เเละเหตุเกิดที่สนามเด็กเล่นหน้าหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ครอบครัวของเจ้าของเรื่องไปเคลียร์กับผู้ปกครองของเด็กคู่กรณีแล้ว โดยเราเล่าเรื่องตามที่น้องเล่าให้ผ้ปกครองฝ่ายนั้นฟัง ซึ่งเขายอมรับฟัง และขอโทษแทนลูก โดยบอกจะอบรมสั่งสอนให้ดีกว่านี้

 

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเน็ต เข้ามาร่วมเเชร์ประสบการณ์ในฐานะที่เคยเป็นเด็กที่ถูกเเกล้งมาก่อน และต้องอยู่กับฝันร้ายมานานนับ 30 ปี โดยเธอเล่าให้ฟังว่า

 

ตอนนั้นเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ อยู่ ป.1 ค่ะ เรียนเร็ว และเพิ่งย้ายโรงเรียนมา ตอนนั้นเราถูกเพื่อนร่วมห้องคนนึงที่อายุมากกว่าแกล้งค่ะ เท่าที่จำได้คือเพื่อนคนนี้เรียนซ้ำชั้นมา เราก็เรียนเร็ว เลยกลายเป็นเราเด็กกว่าเพื่อนคนนั้น 2 ปี

 

เราถูกบังคับให้เป็นเบ๊ให้เพื่อนคนนี้ค่ะ สั่งให้ย้ายจากนั่งหน้าไปนั่งหลังห้องข้าง ๆ เขา คอยรับใช้ คอยหยิบนู้นหยิบนี่ ตอนพักเที่ยง เรามีหน้าที่ถือถาดข้าวให้เขา คอยหยิบน้ำให้ เรียกง่าย ๆ ว่าเขาให้เราเป็นทาสเขา ขึ้นรถโรงเรียนกลับคันเดียวกันอีกค่ะ เขาก็จะบังคับให้เราไปนั่งเป็นลูกสมุนเขาที่เบาะท้ายรถเหมือนเดิม

 

เป็นแบบนี้มาตลอด และมีการทำร้ายร่างกาย หยิก เตะ ถีบ จนเราร้องไห้เล่าให้พ่อกับแม่ฟัง พ่อแม่โอ๋เราค่ะ บอกให้ฟ้องครู สุดท้ายก็ไม่ได้ฟ้องค่ะ มันไม่กล้าฟ้อง และเราก็ไม่มีความสุขเลย จนพ่อแม่ไปคุยกับครูประจำชั้นค่ะ ครูประจำชั้นรับปากว่าจะจัดการให้ ครูเรียกเพื่อนคนนั้นมาคุยค่ะ

พ่อกับแม่บอกเราว่า ไม่ต้องกลัวแล้วนะลูก ไม่มีใครมาทำอะไรเราได้แล้ว ไม่ต้องกลัว

 

เราไปที่โรงเรียนวันรุ่งขึ้น ทันทีที่เราขึ้นรถโรงเรียน เรานึกถึงคำพ่อแม่ว่า ไม่ต้องกลัว มันเป็นครั้งแรกที่เรารวบรวมความกล้านั่งลงที่เบาะหน้า และเริ่มยิ้มกับตัวเอง นั่งได้ไม่นาน เพื่อนคนนั้นกระชากเราไปท้ายรถ หยิกและถีบเรา บอกว่าฟ้องครูเหรอ ครูประจำรถก็หันมาพูดว่าอย่าแกล้งเพื่อน แล้วหันกลับไป เราโดนหยิกแช่ไว้ตลอดทางจนถึงโรงเรียน ตอนกลางวัน เราไปหาครู เพื่อนคนนี้ก็มากระชากเราอีก บอกว่าคิดจะหนีเหรอ และสุดท้ายเราก็ถูกแกล้งเหมือนเดิม 

 

นั่งรถขากลับถูกขู่ว่า ถ้าฟ้องพ่อแม่อีก จะโดนหนักกว่าเดิม วินาทีนั้น เรารู้สึกผิดหวังในตัวพ่อแม่ ผิดหวังในตัวครู รู้สึกว่าไหนพ่อแม่บอกไม่ต้องกลัว รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเราได้ พอเรากลับไปบ้าน เราไม่พูดกับใคร แอบร้องไห้ในห้องน้ำ และเจอเรื่องนี้ตลอด ป.1 ผลการเรียนออกมา เราสอบได้ที่โหล่ จากที่เคยสอบได้ที่ 1 

 

พ่อแม่เราอึ้งมาก เลยถามเราว่าเพื่อนยังแกล้งอยู่ไหม เราเงียบ ไม่ตอบอะไรแล้ว จิตใจเด็กตอนนั้นคืออยากฆ่าตัวตายเลย คือจะไม่สอบได้ที่โหล่ได้ไง ไปเรียนแทบไม่ได้คิดเรื่องเรียนเลย วันวันคิดแต่ว่าจะเอาตัวรอดยังไง วันนี้จะโดนอะไร จนพ่อเราตัดสินใจให้ย้ายกลับไปเรียนที่เดิม 

 

หลังจากกลับมาโรงเรียนเดิม เราก็ยังโดนเพื่อนแกล้งบ้างนะ แต่ไม่ได้หนักแบบแต่ก่อน ก็แนวเล่นกันจนโดนแกล้งตามประสาเด็ก แต่ที่รู้สึกมาก ๆ เลย คือถ้าเราเห็นใครถูกแกล้งแบบหนัก ๆ เราจะเหมือนไม่มีสติแล้วหูดับไปเลย แล้วก็กระโดดเข้าชก ๆ ๆ แบบไม่ยั้ง เกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งจนถึงวันที่ไม่มีใครกล้าแกล้งเรา หรือแกล้งใครต่อหน้าเรา

 

ตอนนี้เราอายุ 38 แล้ว แต่เหตุการณ์ช่วง ป.1 ยังฝังแน่นอยู่ในทุกจิตวิญญาณของเราเลย เรานั่งสมาธิก่อนนอน บางทีถ้าจิตไปนึกเรื่องเก่า น้ำตาเราจะไหลแบบหยุดไม่ได้ อยากกลับไปกอดตัวเองและปกป้องให้ได้

 

ที่เล่ายาวมาทั้งหมด เราอยากจะบอกว่า ในมุมมองของเด็กที่โดนแกล้งนะคะ เราทำอะไรไม่ได้ค่ะ สิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าเรื่องแค่นี้เอง ปัญหาของเด็ก แบบเด็ก ๆ ปล่อยให้เขาจัดการเอง มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นค่ะ จริงอยู่ว่าถ้าเด็กสามารถจัดการได้เอง เช่น ฟ้องครู พูดกับเพื่อนตรง ๆ หลีกหนี หรือแม้แต่สู้กลับ มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ส่วนใหญ่ มันเกินกำลังค่ะ เด็กต้องการความช่วยเหลือ ต้องการการปกป้อง ต้องการอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัย เด็กโดนแกล้ง มันทุกข์มากจริง ๆ ค่ะ

 

สาเหตุที่ทำให้เด็กกลั่นเเกล้งรังเเกผู้อื่น 

เพจ หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ระบุไว้ว่า ปัญหาการล้อแกล้งรังแกในโรงเรียน เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก รุนแรง ในสังคมไทย พ่อแม่หลายคนมักรู้เมื่อลูกตกเป็นผู้ถูกกระทำ แต่หลายคนไม่เคยรู้เลยว่าลูกเป็นเด็กชอบ bully คนอื่น

 

ทำไมเด็กกลายเป็นผู้กระทำ...

- เด็กไม่เข้าใจความสำคัญของการเคารพสิทธิผู้อื่น

- เด็กหลายคนมองการแกล้ง ล้อ รังแก เป็นเรื่องสนุกสนาน เพราะเติบโตมากับการที่เห็นผู้ใหญ่ทำแบบนั้น

- เด็กไม่เข้าใจความหลากหลาย ไม่เข้าใจว่าคนเรามีความแตกต่าง "เป็นปกติ"

-  เด็กเติบโตมาในสังคมที่ชื่นชูบูชาคนที่เป็นตามมาตรฐานที่สังคมบอก และเหยียบย่ำซ้ำเติมคนที่ไม่ใช่

- ความก้าวร้าวรุนแรงใน บ้าน โรงเรียน สื่อ กลายเป็นความสามัญธรรมดาของชีวิต

- เด็กไม่เคยเรียนรู้เรื่องความเห็นอกเห็นใจ ไม่เข้าใจจิตใจของผู้อื่น... ความเห็นอกเห็นใจที่ไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยได้รับ

- เด็กหลายคนดูกร่างที่โรงเรียน แต่จริงๆ หงอหงอยอยู่ที่บ้าน "อำนาจ" ที่ต้องแสวงหามันจากที่อื่น

- เด็กหลายคนเติบโตมากับความเชื่อว่า ความรุนแรง การแสดงอำนาจ คือหนทางแห่งการได้มาซึ่งอำนาจ

- เด็กหลายคนอยากได้รับความสนใจ แต่ไม่มีทักษะพอที่จะใช้วิธีดีๆ

- เด็กบางคนพัฒนาตัวเองจากผู้ถูกกระทำมาเป็นผู้กระทำเพื่อความอยู่รอด

- เด็กโตมากับผู้ใหญ่ที่มองเรื่องการแกล้งกันเป็นเรื่องธรรมดา "ก็ยังเด็ก" "มันก็แค่เล่นกัน" "เพื่อนเค้าก็แค่ล้อเล่น"

- เด็กบางคนมีปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล สมาธิสั้น ทักษะทางสังคมบกพร่อง ปัญหาการควบคุมอารมณ์


อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า เด็กที่ล้อแกล้งรังแกคนอื่นตั้งแต่วัยเด็ก สัมพันธ์กับการเป็นอาชญากรเมื่ออายุ 26 ปี สูงกว่าเด็กปกติถึง 8 เท่า

ไม่ควรเฉยเมย หรือคิดว่าก็แค่แกล้งกัน มันไม่เห็นเป็นไร เด็กที่แกล้งคนอื่นเป็นประจำ หรือกระทำด้วยความรุนแรง ควรได้รับการประเมินเพื่อหาสาเหตุที่ซ่อนไว้อยู่เสมอ ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงในการโต้ตอบ หรือเพื่อสั่งสอนลงโทษ เพราะทุกความรุนแรง... มันมีที่มา และความรุนแรง... ไม่ควรแก้ไขด้วยการใช้ "ความรุนแรง" 
 

คลิกอ่านกระทู้เต็ม

เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ