เด่นโซเชียล

อ.จุฬาฯ สงสัย "มาม่า" สูตรลดโซเดียม คำนวณยังไง ทำไมไม่ตรงหน้าซอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ.เจษฎา โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประเด็น สงสัย "มาม่า" สูตรลดโซเดียม คำนวณยังไง ทำไมตัวเลขไม่ตรงหน้าซอง โซเชียลแห่คอมเมนต์สนั่น

รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  (อ.เจษฎา) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับประเด็น "มาม่า" สูตรลดโซเดียม คำนวณยังไง ทำไมตัวเลขไม่ตรงหน้าซอง โดยรายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้

 

 

(โพสต์นี้เป็นเรื่องความสงสัย ล้วนๆ นะครับ ไม่ได้มีประเด็นดราม่าอะไร)

% โซเดียมที่ลดลง ของ "มาม่า" สูตรใหม่ เค้าคิดมายังไงน่ะครับ ?

ได้คำถามนี้มาหลังไมค์ แล้วผมก็งง ตามไปด้วย เนื่องจากผมคิดเลขไม่เก่งเลย ... คือ มีข่าวว่าบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ "มาม่า” เค้าจะสู้กับวิกฤตเรื่องราคาสินค้า ซึ่งไม่สามารถขึ้นราคาได้ เลยใช้วิธีออกสูตรใหม่ Less Sodium ที่อ้างว่าลดโซเดียมลงไป แล้วขายราคาสูงขึ้น

ปัญหาคือ ตัวเลขเปอร์เซนต์ ที่เค้าอ้างว่าได้ลดปริมาณโซเดียมลงไปเนี่ย คิดมายังไงน่ะครับ ? (อันนี้คือคำถามที่ผมได้รับมา แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้อ่ะ)

ลองดูตัวเลขโซเดียม ดังนี้ครับ

– รสต้มยำกุ้ง (55 กรัม) มีโซเดียม 1,010 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 43%

– รสต้มยำกุ้งน้ำข้น (55 กรัม) มีโซเดียม 1,030 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 38%

– รสเส้นหมี่น้ำใส (55 กรัม) มีโซเดียม 980 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 38%

– รสหมูสับ (60 กรัม) มีโซเดียม 1,170 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 32%

แต่เท่าที่หาข้อมูลของ "มาม่า" สูตรเก่ามาเทียบ (ดูภาพประกอบ)

– รสต้มยำกุ้ง สูตรเก่า (55 กรัม) มีโซเดียม 1280 มิลลิกรัม ... ก็น่าจะคำนวณได้ว่า ลดลง 21%

– รสต้มยำกุ้งน้ำข้น สูตรเก่า (55 กรัม) มีโซเดียม 1270 มิลลิกรัม ... ก็น่าจะคำนวณได้ว่า ลดลง 19%

– รสหมูสับ สูตรเก่า (60 กรัม) มีโซเดียม 1490 มิลลิกรัม ... ก็น่าจะคำนวณได้ว่า ลดลง 21%

 

ผมก็งงเลย ตอบไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมคำนวณออกมาต่างกันมากเลย (ตัวเลขที่เค้าเคลม มันเหมือนกับเป็น 2 เท่าของที่คำนวณได้ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับหรือเปล่า) ... เอาเป็นว่า ใครรู้วิธีการคำนวณ ช่วยบอกมาหน่อยนะครับ จะได้เป็นความรู้ใหม่ประจำวันนี้

 

อ่อ.. ยังไงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีมากๆ นะครับ ที่มีความพยายามจะลดปริมาณของโซเดียมในอาหารที่เรากินแต่ละวันลง ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำให้กินโซเดียมแค่วันละไม่เกิน 2000 มิลลิกรัมเท่านั้น (เจอบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อต่างๆ ไป 2 ซอง ต่อวัน ก็เกินแล้ว) ดูโทษของโซเดียม ต่อสุขภาพของเรา ได้ด้านล่างครับ

 

โทษของโซเดียมต่อสุขภาพ

แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่หากเรารับโซเดียมมากเกินไป ก็อาจเกิดโทษต่อสุขภาพตามมาได้ เช่น

- เมื่อโซเดียมในร่างกายสูง จะทำให้เลือดข้น ส่งผลให้มีการดึงน้ำจากในเซลล์ออกมาในกระแสเลือด และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา

- ไตต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง และเกิดภาวะไตวายในอนาคตได้

- หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

 

logoline