เด่นโซเชียล

บ่นจัง เมื่อไหร่ "เงินเดือน" จะออก บ่นเป็นคอนเทนต์ หรือเพราะเงินหมดไม่พอใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เคยบ่นไหม "เมื่อไหร่เงินเดือนจะออก" อาการของคนสิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ เหตุเพราะเงินเดือนไม่พอใช้ หรือ เพราะไม่ วางเเผนการเงิน

ชีวิต "มนุษย์เงินเดือน" สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ใครเป็นบ้าง บางทีหลัง "เงินเดือน" ออกเเค่ 7 วัน เราก็จะได้ยินเเล้วว่า "เมื่อไหร่เงินเดือนจะออก" เงินเดือนไม่พอใช้ หรือ เพราะไม่ วางเเผนการเงิน  และประโยคนี้นี่เเหล่ะ ที่ทำเอาชาวเน็ตเกิดความสงสัยจนต้องตั้งกระทู้ 
  

"ทำไมมีแต่คนบ่น "เมื่อไหร่จะเงินเดือนออก" แสดงว่าไม่มีเงินสำรองกันเลยใช่มั้ย"

 

เห็นเยอะมาก ๆ ครับ เลยรู้สึกแปลกใจ ไม่วางแผนทางด้านการเงินกันเลยเหรอ

ที่เจอคือ เงินเดือน ออก เหมือนหึกเหิม มีอำนาจใช้จ่าย ยิ่งศุกร์สิ้นเดือนนี่จัดเต็มมาก

พอกลางเดือนก็มาบ่นว่าเงินเหลือน้อย สุดท้ายก็เที่ยวขอยืมคนอื่น วนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

ไม่ต้องพูดถึงอนาคต หรือ ลงทุน นะครับ แค่อยู่รอดถึงสิ้นเดือนนิ่เหมือนเป็น mission เลย

ผมมีบ้านกับคอนโดที่ต้องผ่อน ทุกวันนี้มีเงินสำรองเกิดตกงาน ผมมีเงินผ่อนทั้ง 2 อย่างและใช้จ่ายในครอบครัวไปได้ 3 เดือนสบาย ๆ

 

สำหรับใครที่ยังไม่มีการวางแผนการเงิน ลองคิดและหาทางกันเงินส่วนตัวไว้ทุกเดือนเหอะครับ อนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ามีภาระหรือรายจ่ายที่มากกว่า เงินเดือน อันนี้สมควรช่วยเหลือครับ แต่ที่ผมเจอคือหวังสิ้นเดือนแล้วก็ฉลอง สุดท้ายก็มาขอยืมคนอื่น รวมถึงผม

เเม้จะมีหลายความเห็นบอกว่า สิ่งที่เจ้าของกระทู้ถาม เรื่อง "เงินเดือน" จริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องของคนอื่นที่ควรปล่อยผ่านไป ตราบใดที่เขาไม่มายืมเงินทำให้เจ้าของกระทู้ต้องเดือดร้อน และเห็นด้วยที่ควร วางเเผนการเงิน เผื่ออนาคตไว้ และบางคนก็มีเงินเก็บสำรองไว้ เเต่ต้องการใช้เมื่อฉุกเฉินจริงๆ และคอมเมนต์เอาฮาก็คือ บ่นไปงั้นๆ เป็นคอนเทนต์ บ่นไปเผื่อไว้เดี๋ยวมีคนยืม


"การวางแผนการเงินเป็นเรื่องดีค่ะ แต่ก่อนจะมีการวางแผนการใช้เงิน ต้องมีเงินให้วางแผน ส่วนใหญ่แล้วที่มีปัญหาคือ ใช้เงินมากกว่าเงินเดือน กับ เงินเดือนได้น้อยกว่ารายจ่าย มีลูก มีครอบครัว มีภาระ พ่อแม่แก่ชรา หมา แมวจร ฯลฯ แม้ว่าจะประหยัดกินแต่มาม่าอยู่แทบทั้งเดือนก็ยังไม่พอ ทางแก้ก่อนวางแผนการเงิน น่าจะต้องหางานที่ทำเงินให้พอกับรายจ่ายเสียก่อน"


"รายได้และรายจ่ายของแต่ละคนมันไม่เท่ากันครับ บางคน (ย้ำว่าบางคน) เขามีเหตุจำเป็นต้องจ่าย ซึ่งต้องจ่ายมากกว่ารายได้ที่มี อย่างเช่นคนใกล้ชิดคนหนึ่ง เขาก็วางแผนการเงิน ก็มีเงินเก็บเยอะพอสมควร แต่พอดีสามีมาป่วย ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ทั้งค่าเดินทาง ค่ายา ค่าอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับผู้ป่วย มันเยอะนะครับ ทีนี้อาการป่วยไม่ได้เป็นแค่วันสองวันหรือาทิตย์ แต่มันสะสมมาเป็นสิบปี
เมื่อมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เงินที่เก็นมันก็ค่อยๆ ร่อยหรอและหมดไปเรื่อยๆ"


"มีสำรองก็บ่นคะ มันคือส่วนที่เราควรจะได้ ทำงาน ไม่ได้ มาทำการกุศล เงินไม่ถึงบัญชียังไงก็ต้องบ่น"
 

"คนบางคนอาจจะคิดแค่ว่ามีเงินก็ใช้ไป ไม่ได้คิดถึงการเก็บเงินระยะยาว หมดก็ไปทำงานหาใหม่ อีกอย่างเป็นเพราะว่าค่าครองชีพสูงขึ้นด้วยเลยทำให้เงินหมดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แต่จริงๆแล้วคนที่บ่นแบบที่เจ้าของกระทู้ว่าหมายถึงคนที่มีการบริหารเงินไม่ดีครับ"


"มีเก็บค่ะ แต่ไม่อยากใช้เงินเก็บ อยากได้เงินใหม่มาซื้อ"


"สำหรับผมนะ เงินเก็บคือเงินเก็บ จะพยายามไม่ดึงออกมาใช้ถ้าไม่จำเป็น ดังนั้นก้อนที่ใช้ประจำวันคือเงินเดือนที่เหลือจากเก็บไปแล้ว พอใกล้สิ้นเดือนก็จะตึงๆหน่อย ไม่ใช่ตึงเพราะไม่มี แต่แค่ไม่อยากไปเอาเงินเก็บออกมาใช้แค่นั้นเลย"

 


"สำหรับคนอื่นๆ จะะจัดการอะไรอย่างไรนั้น เราไม่ทราบได้ เพราะแต่ละคนมีภาระ มีหน้าที่ที่จะต้องทำและจะต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป

เราขอพูดถึงตัวเรา สมัยก่อนเราก็ไม่มีเงินเหลือเก็บออมค่ะ มีหน้าที่ ที่จะต้องส่งเงินให้พ่อ ส่งเงินให้น้อง จนกระทั่งตัวเองไม่มีเงินเหลือเก็บออมเลย ใช้เงินหมดเดือนชนเดือน พยายามประหยัดอดออมอย่างที่สุดเพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้

วิธีของเรา ตอนนั้นนะ ได้เงินเดือนมาปุ๊บ แบ่งส่งให้พ่อให้น้องทุกเดือน
ที่เหลือจ่ายค่ากับข้าว ค่าอาหารการกินภายในครอบครัวของตัวเอง บางเดือนน้องเงินไม่พอใช้โทรมาขอเงินอีก เราก็ต้องกระเบียดกระเสียรเจียดเงินส่งไปให้มัน (อีกหลายปีต่อมาเราเพิ่งได้มารู้ความจริงทีหลังว่าขอเงินเราเอาไปใช้จ่ายออกทริปเที่ยวกับเพื่อนๆที่มหาลัย เรานี่โคตรเสียใจ เสียความรู้สึกเลย ตัวเราเองประหยัดอดออมแทบตาย ไอ้คนที่โทรมาขอเงินกลับไม่รู้ค่าของเงิน ขอได้ง่ายๆ กิน-เที่ยวสบายใจ ใช้ขีวิตดี๊ดี...)

สองสัปดาห์แรก เราโคตรประหยัดเงินเลย ไม่กล้าใช้จ่าย ของที่อยากได้ก็ไม่เคยได้อดทน อดกลั้น ยอมเสียสละความสุขตัวเองเพื่อคนในครอบครัว
จะบอกว่า ผักบุ้ง ถั่วงอก กระหล่ำปลี คือเมนูอาหารที่เราทำบ่อยมาก เพราะราคามันถูกได้ปริมาณมาก

สัปดาห์ที่สาม-สี่เริ่มยืดหยุ่นขึ้นมาหน่อย

สัปดาห์สุดท้ายของเดือน (ก่อนที่จะรับเงินเดือนของเดือนถัดไป) ยังมีเงินเหลือ เราซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง ของกิน ของใช้ที่จำเป็นตุนไว้ก่อน เงินหมดเกลี้ยง ไม่เคยมีเหลือเก็บออม


มาตอนหลัง พ่อเราตาย น้องเรียนจบทำงาน แต่งงานมีครอบครัวไป เราก็ไม่ได้ส่งเงินให้ใครอีกเลย (แม่เราตายตอนเรายังเรียนมหาวิทยาลัย)

แต่มันติดนิสัยประหยัด อดออมมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว
เดี๋ยวนี้เราก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ต่างตรงที่ พอได้เงินมาปุ๊บ แบ่งเงินฝากธนาคาร เงินออมเพื่อการลงทุนก่อนเลย

สองสัปดาห์แรกยังประหยัดเหมือนเดิม บางทีบางครั้งยังซื้อถั่วงอก ผักบุ้ง กระหล่ำปลีมาทำกับข้าว จะได้ไม่ลืมตัว จะได้ระลึกถึงวันที่ยากลำบาก วันที่เคยยากจน

สัปดาห์ที่สาม-สี่ ยืดหยุ่นขึ้นมาหน่อย

สัปดาห์สุดท้ายของเดือน(ก่อนรับเงินเดือนเดือนถัดไป) เอาเงินไปซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง ของกิน ของใช้ภายในบ้าน ถ้าเงินหมดก็ให้มันหมดไป เพราะต้นเดือนเราได้แบ่งเงินออมไว้แล้ว แต่ถ้ายังเหลือเราเก็บแยกไว้ (เอาไว้ซื้อของขวัญวันเกิด,ของขวัญคริสต์มาส,ของขวัญปีใหม่ให้รางวัลชีวิตตัวเองปีละครั้ง)

วิถีชีวิตของเราก็ประมาณนี้ ยังดีที่เราไม่มีหนี้ ใช้บัตรเครดิต ก็จ่ายเต็มจำนวน จ่ายครั้งเดียวจบ ไม่ผ่อนชำระ ไม่จ่ายขั้นต่ำ ต้นเดือนฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้รอก่อนเลย ถึงเวลาธนาคารตัดบัตรก็มีเงินอยู่ในบัญชีให้เขาตัด จ่ายตรงเวลา จะได้ไม่เสียเครดิต ไม่เสียดอกเบี้ย"

 

คลิกอ่านกระทู้

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ