เด่นโซเชียล

เมื่อจิตเเพทย์ พูดถึง ชัชชาติ และ ผู้ป่วย โรคซึมเศร้า เเรงบันดาลใจจากการไลฟ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เเรงบันดาลใจที่กระเพื่อมถึงกัน สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ คนไข้ "โรคซึมเศร้า" ได้กำลังใจจาก "ชัชชาติ" จิตแพทย์ ก็มีกำลังใจ เมื่อเห็นความหวังในดวงตาของคนไข้ พร้อมสรุปความรู้สึกที่พบได้บ่อยใน "โรคซึมเศร้า"

จากกรณีที่ นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาระบุว่า หากการไลฟ์ระหว่างลงพื้นที่ทำงานของตนเองช่วยสร้าง "กำลังใจ" ให้ใครได้ เเม้เพียงคนเดียวเป็นเหตุผลเพียงพอแล้ว พร้อมเล่าประสบการณ์การได้รับกำลังใจจากผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" ที่รู้สึกมีพลังขึ้นจากการดูไลฟ์สดของตนเอง

 

ล่าสุด สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เรื่องราว #แรงบันดาลใจที่กระเพื่อมถึงกัน 
 

โดยระบุว่า คนไข้ "โรคซึมเศร้า" ได้กำลังใจจากการทำงานของ อ.ชัชชาติ อาจารย์ก็ได้กำลังใจในการทำงานเช่นกัน จิตแพทย์ เองก็รู้สึกมีกำลังใจ เวลาเห็น  แววของความหวัง ในดวงตาของคนไข้ค่ะ

 

โพสต์ดังกล่าวมีข้อความว่า ชื่อโรค "ซึมเศร้า" ชวนให้หลายคนเข้าใจผิดว่ามันคือโรคที่ทำให้เศร้ามาก ร้องไห้บ่อยผิดปกติ ... ซึ่งเป็นความจริง แต่ #เพียงส่วนหนึ่ง มากไปกว่านั้น มันทำให้บุคคล 
 

#สูญเสียความสามารถในการมีความสุข 
นอกจากทุกข์ถี่ทุกข์นานเกินเหตุแล้ว ยังเบื่อหน่ายแม้กระทั่งสิ่งที่เคยชอบ งานอดิเรกที่เคยเพลิดเพลิน (anhedonia)ไม่รู้สึกรู้สาอะไร ไม่ยินดียินร้าย เหมือนไม่รู้สึกอะไรเลย (emotional numbness)

#สูญเสียความสามารถในการคิด 
ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ความจำใช้งาน ความจำระยะสั้น การตัดสินใจ ความเข้าใจ การใช้ภาษา 

#สูญเสียแรงกาย พลังใจ 
หลายคนนอนเกือบทั้งวันในวันหยุด อาจจะหลับบ้างไม่หลับบ้าง บางคนหลับกลางคืนแล้วก็หลับกลางวันได้อีก บางราย work from home ในท่านอน(ประชุม)เกือบทั้งวัน 

#สูญเสียความหวัง 
ไม่ว่าจะเป็นความหวังที่จะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทางใจ มองไปไม่เห็นอนาคต (hopeless) หรือความเชื่อว่าตนเองสามารถที่จะจัดการสถานการณ์ปัจจุบันที่รู้สึกว่าเป็นปัญหาได้ (helpless) 

วันก่อน อ. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เล่าว่า 

... ไปเจอน้องคนหนึ่ง มาถ่ายรูปด้วยกัน บอกเป็นกำลังใจให้ผมนะ น้องผู้หญิงเขาบอกว่าเป็น "โรคซึมเศร้า" แต่พอเขาดูไลฟ์เรา เขาก็มีกำลังใจลุกขึ้นมาทำงาน มาทำอะไรต่อ ทำให้ชีวิตเขาขับเคลื่อนไปได้ ผมฟังแล้วผมก็เลยปลื้มใจนะ จริง ๆ แค่น้องคนนี้คนเดียวก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาไลฟ์ให้คนดูแล้ว ถึงแม้มันไม่ใช่เรื่องงานนะ แต่อย่างน้อยถ้ามันสร้างกำลังใจให้คนบางคนได้ ให้ออกไปทำงาน ให้ออกไปสู้ชีวิตได้ ผมว่าแม้กระทั่งคนเดียวก็มีค่าควรแก่การไลฟ์แล้ว ...​

 

งานสุจริตใดใด ไม่ว่าจะมีคนมองเห็นมากหรือน้อยแค่ไหน มีประโยชน์ต่อใครบางคนเสมอ ความทุ่มเทและตั้งใจในการทำงาน นอกจากเป็นการให้เกียรติตนเองแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจกระเพื่อมถึงผู้อื่นด้วย

 

คนไข้ "โรคซึมเศร้า" ได้กำลังใจจากการทำงานของ อ. ชัชชาติ อาจารย์ก็ได้กำลังใจในการทำงานเช่นกัน จิตแพทย์เองก็รู้สึกมีกำลังใจ เวลาเห็น  แววของความหวัง ในดวงตาของคนไข้ค่ะ

เมื่อจิตเเพทย์ พูดถึง ชัชชาติ และ ผู้ป่วย โรคซึมเศร้า เเรงบันดาลใจจากการไลฟ์
 

สรุป ความรู้สึกที่พบได้บ่อย ๆ ใน "โรคซึมเศร้า" ได้แก่

ความหงุดหงิด : หงุดหงิดโมโหง่าย เหมือน "จุดเดือดต่ำลง" เจ้าตัวก็รู้แต่คุมไม่ได้ เป็นอารมณ์ชั้นตื้นที่สังเกตเห็นได้ง่าย

 

ความเบื่อหน่าย : เบื่อไปแทบทุกอย่าง ... ไม่อยากพูดอะไร (เพราะฉะนั้นถ้าต้องพูดก็ต้องฝืน ก็จะเหนื่อย) ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปไหน ... เบื่อแม้กระทั่งกิจกรรมที่เคยชอบทำ ... บางคนก็เบื่ออาหารด้วย (จากประสบการณ์การตรวจคนไข้ ถ้าถึงขั้นเบื่อสัตว์เลี้ยง คือ อาการชัดมากแล้ว)

 

"สุขไม่สุด" คำนี้ก็ได้ยินจากปากคนไข้บ่อย ... ไปเที่ยวก็รู้สึกงั้น ๆ ไม่ว่าสถานที่จะสวยงามแค่ไหน , คิดได้ด้วยหัว ว่าไปงานรับปริญญาก็ต้องดีใจกับเค้านะ ก็พูดแสดงความยินดีและยิ้มตามมารยาทสังคม แต่เจ้ารู้ว่ามันไม่ได้ออกมาจากใจ บางคนลืมไปว่าไม่ได้หัวเราะมานานแล้วจนกระทั่งมาหาหมอแล้วได้ทบทวนตัวเองตอนหมอซักประวัติ

 

ว่างเปล่า ... อยู่ไปวัน ๆ อยู่เพราะยังไม่ตาย

 

ไม่ยินดียินร้าย ... ไม่รู้สึกอะไรเลย เฉย ๆ กับทุกอย่าง จนบางที พอเริ่มจะหงุดหงิดได้ คนไข้ก็เริ่มรู้สึกถึง 'ความมีชีวิต' ขึ้นมา

 

โดดเดี่ยว ... ไม่สามารถเชื่อมโยงกับใครได้ เหมือนไม่มีใครเลยสักคนที่เข้าใจ

 

ท้อหรือสิ้นหวัง ... มองไม่เห็นว่าตัวเองหรือสถานการณ์ที่เผชิญอยู่จะดีไปกว่านี้ได้ยังไง

 

รู้สึกว่าตัวเองใช้ไม่ได้ ล้มเหลว ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกเกลียดตัวเอง

 

รู้สึกไร้ค่า ... ถ้าตายไปก็ไม่มีผลกับใคร ไม่มีใครเสียใจ อาจจะดีกว่าเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น

 

เหนื่อย ... คนที่มีความคิดว่า อยากตายหรืออยากหายไป หลาย ๆ คนบอกตรงกันว่า ความรู้สึกที่ท่วมท้นที่สุด ไม่ใช่ความเจ็บปวดหรือเศร้าเสียใจ แต่เป็นความรู้สึก "เหนื่อย" นี่แหละค่ะ ... เหนื่อยกับการแสดงว่าไม่เป็นอะไร เหนื่อยกับชีวิต กับทุกอย่าง ...จนไม่อยากจะรู้สึกอะไรแล้ว

เมื่อจิตเเพทย์ พูดถึง ชัชชาติ และ ผู้ป่วย โรคซึมเศร้า เเรงบันดาลใจจากการไลฟ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ