เด่นโซเชียล

ข้อควรรู้ "กัญชา" หลังปลดล็อกแล้ว "อ.เจษฎ์" แนะ ควรใช้อย่างระมัดระวัง

ข้อควรรู้และคำแนะนำ หลังปลดล็อก "กัญชา" พร้อม 10 ข้อควรระวัง "อ.เจษฎ์" แนะ หลังปลดล็อกวันนี้ ควรใช้อย่างระมัดระวัง

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้ไป (9 มิถุนายน) "กัญชา" ทุกส่วน แม้แต่ช่อดอก (ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ที่ทำให้เสพติดได้อย่างสาร THC อยู่สูง) ก็ได้ถูกปลดล็อกแล้ว

 

โดยจะไม่ถูกกำหนดว่าเป็น สิ่งเสพติด ไม่มีกฎหมายกำกับการใช้ ไม่มีข้อจำกัดในการวางขาย ไม่มีช่วงอายุที่ห้ามซื้อขาย ไม่มีสถานที่ห้ามเสพที่ชัดเจน (จนกว่าจะมีกฎหมายตามมากำกับอีกทีนึง) ซึ่งก็มีประเด็นน่าห่วงเยอะ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของการนำไปใช้ การดูแลควบคุมคุณภาพ รวมไปถึงเรื่องที่ "กัญชา" จะเข้าถึงเด็กได้ด้วย

 

การใช้ "กัญชา" ในรูปแบบต่างๆ นั้น นอกจากจะต้องระวังตัวของท่านเองที่จะไม่รับสาร THC เข้าไปมากแล้ว ยังต้องระวังการที่คนรอบข้างได้รับสารนี้เข้าไปด้วย ดังเช่น การสูดดมควันจากการสูบ "กัญชา"า ที่มี THC นี้ ก็สามารถทำให้คนรอบตัวได้รับสาร THC เข้าสู่ร่างกายได้ เช่นเดียวกับบุหรี่มือสอง สามารถทำให้ผู้ได้รับควันมือสองนี้มีอาการมึนเมาและอาการระคายเคืองจากควันได้ด้วย 

 

วันนี้เลยขอนำข้อมูล "ข้อควรรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับกัญชา" โดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มาเผยแพร่เตือนให้ทราบกันอีกทีรวมถึงข้อควรระวังจาก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย

 

"ข้อควรรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับกัญชา" โดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 

 

ข้อควรรู้

- กัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมากมาย เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinnol หรือ THC) ซึ่งเป็นสารสำคัญและมีมากในช่อดอก มีฤทธิ์เสพติดและทำให้เสียสุขภาพได้

- กัญชาอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อประชากรหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ เด็กและวัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร 

- การใช้กัญชาปริมาณมากทำให้เกิดภาวะกัญชาเป็นพิษได้ เช่น อารมณ์ครื้นเครง หูแว่ว ระแวง หัวใจเต้นเร็ว การเคลื่อนไหวไม่ประสาน สูญเสียการตัดสินใจที่ดี ฯลฯ

- การใช้กัญชามากและนานทำให้เกิดการเสพติดกัญชาได้ เช่น มีการดื้อยาหรือถอนยา ไม่หยุดใช้แม้จะเกิดปัญหาจากกัญชาแล้ว ฯลฯ 

- การเสพติดกัญชาในระยะยาวทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เช่น เชาวน์ปัญญาลดลง และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิต โรคไบโพลาร์ การฆ่าตัวตาย รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

 

คำแนะนำ

- ควรใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์

- กัญชาทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพได้ หากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กัญชา

- หลังใช้กัญชาไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักร

- พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูควรดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้ใช้กัญชา และให้ห่างจากสื่อโฆษณากัญชา

- ผู้ไม่ประสงค์จะบริโภคกัญชาควรระมัดระวังอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจมีส่วนผสมของกัญชา

- ผู้ที่มีภาวะกัญชาเป็นพิษหรือเสพติดกัญชาควรได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว

 

"10 ข้อควรระวังสำหรับผู้ตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา" โดยศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

 

1. ก่อนจะใช้กัญชาควรศึกษาความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะสั้นและระยะยาว ผู้มีโรคประจำตัวปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะผู้มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคปอด และอย่าลืมเชคว่ายาประจำตัวของเราจะตีกับกัญชาหรือจะถูกสารกัญชารบกวนจนเกิดผลร้ายไหม

 

2. หากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผลซึ่งพบว่าหากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชานานเป็นปีก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ (ส่วนทักษะทางภาษาและความจำระยะสั้นสามารถกลับคืนเมื่อหยุดเสพกัญชาได้)

 

3. หากคิดแล้วอยากจะลองใช้จริงๆ ก็ขอให้เริ่มแบบ THC (สารเมาหลอนและเสพติด) ปริมาณน้อย ใครท้าก็อย่าหน้าใหญ่ ใจใหญ่ลอง THC เข้มข้น...ไม่งั้นอาจเสี่ยงได้นอนหน้าสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะในห้องฉุกเฉินหรือ ICU ได้ 

 

4. การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ บารากุ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากตัวกัญชา สารละลาย หรือสารปนเปื้อนอื่น หากมีอาการควรหยุดสูบในทันที

 

5. ผู้ที่จะทดลองสูบ กรูณาสูบอย่าลึกมาก และอย่าอัด-กลั้นไว้ในปอด เพราะจะได้รับปริมาณสารเข้าสู่ร่างกายเยอะ ทั้งสาร THC และสารระคายเคืองต่างๆ ที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

 

6. คนรอบตัวที่ไม่ได้สูบยังอาจได้รับควันกัญชาได้ ฉะนั้นควรสูบในที่จัดเป็นสัดส่วนของคนสูบกันเอง เลี่ยงการสูบในที่มีเด็ก คนท้อง หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ 

 

7. หากใช้กัญชาแล้ว พยายามใช้แต่น้อย และติดตามการใช้ของตนเอง หากจู่ๆเริ่มใช้บ่อยขึ้นเยอะขึ้น เริ่มทำใจไม่ใช้ลำบาก เริ่มเสียเงินกับกัญชาเยอะ หรือเริ่มคิดถึงการใช้กัญชามากจนรบกวรการทำงาน การดำเนินชีวิต หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ต้องระวังว่ามีการติดกัญชาแล้ว 

 

8. การขับขี่ยานพาหนะขณะที่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นต้องแนะนำให้งดการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา และการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุราจะทำให้ความสามารถในการขับยานพาหนะลดลงมาก ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

 

9. การเลือกผลิตภัณฑ์กัญชา ควรเลือกที่มีความน่าเชื่อถือ ในต่างประเทศที่มีกติกากำกับดูแลผลิตภัณฑ์ จะมีการตรวจสารปนเปื้อน เชื้อโรค และยืนยันระดับสารว่าตรงกับที่ฉลากระบุ ซึ่งก็มีการคัดออกผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เศษปฏิกูลต่างๆออกอยู่

 

10. การกินอาหารหรือขนมผสมกัญชาที่มี THC สูง ก็อาจจะทำให้เกิดอันตราย จนต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะพิษ THC ได้

ข้อควรระวังและคำแนะนำเกี่ยวกับกัญชา

 

 

ภาพและข้อมูล จาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และ Ramathibodi Poison Center