เด่นโซเชียล

"ประกันสังคม" เช็คเกณฑ์ 3 ขอสิทธิ "เงินชราภาพ" แต่ละแบบมีรายละเอียดอย่างไร

12 พ.ค. 2565

"ประกันสังคม" เช็คชัด ๆ เกณฑ์ 3 ขอสิทธิประโยชน์ใหม่ "เงินชราภาพ" แต่ละรูปแบบมีรายละเอียด และหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง

ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ หลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...  ปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนด ตามที่ผู้ประกันตนเคยออกมายื่นข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ดังนั้น "ประกันสังคม" จึงได้มีการออกหลักเกณฑ์สำหรับให้ผู้ประกันตนเลือกให้สิทธิใช้ "เงินชราภาพ" ตามความเหมาะสม และความจำเป็น   
 

สำหรับรายละเอียดสิทธิประโยชน์ "เงินชราภาพ" ที่ "ประกันสังคม" กำหนดแนวทางสำหรับเบิกจ่ายใหม่มีดังนี้  การปรับแก้ไขสิทธิประโยชน์ใหม่ของกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนด อายุ 55 ปีบริบูรณ์ หรือที่เรียกกันว่าสิทธิประโยชน์เงินชราภาพ 3 ขอ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.ขอเลือก
ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับบำเหน็จ (เงินตอบแทนแบบจ่ายครั้งเดียว) หรือ บำนาญ (เงินตอบแทนจ่ายเป็นรายเดือน) ได้  เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว

2.ขอคืน
ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใด ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ 

3. ขอกู้
ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วน เป็นหลักประกันกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมได้

อย่างไรก็ตามการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม  (ฉบับที่..) พ.ศ. ... มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตัวเองส่งเงินสมทบมาเป็นประจำนั้น ได้ออกมาใช้จ่ายยามฉุกเฉินได้บางส่วน ดังนั้นผู้ประกันตนจะนำเงินออกมาใช้ก่อนได้ ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับ หรือไม่เกิน 2 เท่าของค่าจ้างสูงสุดที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ 

วิธีคำนวณ "เงินชราภาพ" ในกองทุนประกันสังคม ทำได้ดังนี้  หากมีรายได้เกิน 15,000 บาทต่อเดือน จะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม เดือนละ 750 บาท (อัตราสูงสุด) โดยเงินจะถูกแบ่งออกไปตามสัดส่วน 

-ส่วนที่ 1 1.5% ของยอดสมทบ หรือสูงสุด 225 บาท จะใช้ในส่วนประกันเจ็บป่วย หรือตาย 
-ส่วนที่ 2  0.5% ของยอดสมทบ หรือสูงสุด 75 บาท จะถูกเก็บไว้ในส่วนของประกันการว่างงาน 
-ส่วนที่ 3  3% ของยอดสมทบ หรือสูงสุด 450 บาท จะถูกเก็บไว้ในส่วนของประกันชราภาพ