เด่นโซเชียล

เปิดกฎหมาย "ติดโควิด" บริษัทให้ลาป่วย 3 วัน ลาพักร้อนอีก 7 วัน ทำได้หรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดกฎหมาย "ติดโควิด" เเพทย์ให้หยุด 10 วัน เเต่บริษัทให้ใช้วันลาป่วย 3 วัน บวกวันลาพักร้อนอีก 7 วัน ทำได้จริงหรือ?

ปัญหาการวันหยุด วันลาป่วย ของลูกจ้าง "ติดโควิด" กลายเป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือน คนทำงานประจำ ต้องมาถกเถียงและตั้งข้อสงสัย ด้วยสาเหตุจากทั้งการเป็นผู้ใกล้ชิดคนติดเชื้อที่ต้องกักตัว รวมถึงคนที่ "ติดโควิด" ที่อาจต้องใช้เวลารักษาและกักตัวถึง 10 - 14 วัน บ้างก็สงสัยว่าคนในบ้านติด แล้วจะกักตัว 7 วันดูอาการ แบบนี้ต้องลาป่วยหรือลาพักร้อน บางคนบอกว่าที่ทำงานให้ใช้วันนักขัตฤกษ์ที่มี บวกกับวันลาพักร้อน ยกเว้นกรณีนี้ ที่เเพทย์ให้หยุด10 วัน แต่บริษัทให้หยุดแค่หกวัน ถ้าไม่มาถือว่าขาดงาน ทั้งที่มีใบรับรองแพทย์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นเรื่องที่ทำให้คนที่ "ติดโควิด" หลายคนเครียด เพราะการ ขาด ลา มาสาย รวมถึง "ลาป่วย" มีผลต่อการปรับเงินเดือน รวมถึงโบนัส ไม่เว้นเเม้แต่หน่วยงานราชการ ที่ใช้วันลาป่วยมานับแต้มการประเมินการเลื่อนขั้นประจำปี และการลาป่วยมีผลกระทบกับเบี้ยขยันต่าง ๆ ในที่ทำงาน มีผลกับการเงินขึ้น มีผลกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องมาทำแทน ลาบ่อยเจ้านายไม่โอเค ยิ่งทำงานโรงงานในฝ่ายผลิตน่าสงสาร เเม้จะป่วยจนแทบไม่ไหวก็ยังต้องมา

เเต่กรณีนี้ มีคำตอบที่เป็นข้อกฎหมายชัดเจน โดย เพจกฎหมายเเรงงาน โพสต์อธิบายข้อกฎหมาย กรณีติด "โควิด" แพทย์ให้หยุด ๑๐ วัน แต่ที่ทำงานให้ลาป่วย ๓ วัน ลาพักร้อนอีก ๗ วันได้เหรอ??? ไว้ว่า 

การติดโควิด คือ การป่วย ที่แปลว่า มีการผิดปกติทางร่างกายอันเนื่องมาจากเชื้อโรค

และกรณีนี้มีเหตุให้เชื่อได้ว่า "จริง" เพราะมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งแพทย์ไม่กล้าออกใบรับรองถ้าไม่ป่วยจริง เพราะมีกฎหมายและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ซึ่งเคยมีกรณีบริษัทที่ปรึกษา พนักงานลาป่วย แต่แพทย์เขียนในใบรับรองว่า "มาตรวจจริง" แบบนี้แปลว่าแพทย์ไม่ได้รับรองว่าป่วย

กลับมาที่ปัญหาว่าการติดโควิดแล้วขอลาป่วย แต่ฝ่ายบุคคลแจ้งว่าให้ลาได้เพียงแค่ ๓ วัน ที่เหลือให้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี(ลาพักร้อน) ถือว่าไม่ถูกต้อง

เพราะการป่วย ก็ต้องใช้สิทธิลาป่วยตามมาตรา ๓๒ ซึ่งกฎหมายเขียนรับรองสิทธิไว้ชัดว่า "ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง" เมื่อป่วยจริง ๑๐ วัน ก็ต้องให้ลาป่วยได้ตามจริง จะให้ไปใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี(ลาพักร้อน) ไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี

กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายในมาตรา ๓๐ ที่ว่า

"ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน..."

ตามกฎหมายให้หยุดได้ ๖ วัน แต่กรณีจากคำถามวันหยุดพักผ่อนประจำปีนายจ้างอาจให้หยุดมากกว่า ๖ วัน เพราะถูกบังคับให้หยุดไปแล้ว ๗ วัน นั่นเท่ากับว่า ปีนี้จะเสียสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี(ลาพักร้อน) ไปเลย

logoline