เด่นโซเชียล

ถูกนายจ้างเปลี่ยน "ค่าล่วงเวลา" จาก "โอที" เป็นวันหยุด ทำได้ไหมกฎหมายชัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำ "โอที" เเต่ถูกนายจ้างเปลี่ยน "ค่าล่วงเวลา" เป็นวันหยุด ทำได้หรือไม่ กฎหมายเขียนชัด สิทธิที่ลูกจ้างและนายจ้างต้องรู้

"ทำล่วงเวลา" ต้องได้เงิน เพราะมีกฎหมายเขียนชัด โดย เพจเฟซบุ๊ก กฎหมายเเรงงาน รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์  ได้อธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับ "โอที" OT หรือ Over time ซึ่งก็คือ time ที่มันโอเวอร์ หรือเกินจาก ๘ ชั่วโมง อันเป็นเวลาทำงานปกติที่กฎหมายให้ทำงานได้ไม่เกินนี้

การทำงานเกิน หรือล่วงเวลาจากจำนวน ๘ ชั่วโมง เงินที่จ่ายจะเรียกว่า "ค่าล่วงเวลา" 
 

ซึ่งบทนิยามในมาตรา ๕​ ของกฎหมายเขียนชัดว่า "ค่าล่วงเวลา" ต้องจ่ายเป็น "เงิน" การให้ไปแลกหยุดวันอื่นแทน หรือสะสมไปหยุดไม่สามารถทำได้ เพราะมันไม่ใช่ "เงิน"  

หากนายจ้างไม่ปฎิบัติตามที่กฎหมายเขียนไว้ ผลที่ตามมาคือลูกจ้างอาจเรียกค่าล่วงเวลาย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยได้

อนึ่ง หลักการนี้ใช้รวมถึงกรณีค่าทำงานในวันหยุดด้วย ที่ต้องจ่ายเป็นเงิน จะให้มาทำงานแล้วไปแลกหยุดวันอื่นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การที่นายจ้างจะสลับวันทำงานก็ควรเขียนเป็นสภาพการจ้าง (ข้อตกลง) ให้ชัดแจ้งว่าจะเป็นการสลับวัน/เวลาทำงาน ซึ่งสามารถทำได้แต่ต้องไม่ขัดกับที่กฎหมายเขียนไว้

ส่วนกรณีทำ OT มาโดนหักโน่น หักนี่หมด มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้หักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

แต่ก็มีข้อยกเว้นให้หักได้ เช่น ค่าภาษี เงินบำรุงสหภาพ ชำระหนี้สหกรณ์ เงินประกัน เงินชดใช้ค่าเสียหาย เงินสะสมกองทุน  

หากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ลูกจ้างอาจเรียกค่าจ้างส่วนที่หักไปได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี (และควรเรียกเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ทุก ๆ ๗ วันด้วย) 

โดยกรณีนี้ลูกจ้างสามารถร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานได้ 

อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างเห็นว่าไปฟ้องหรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะกลับมาทำงานร่วมกันไม่ได้ หรือกลัวจะถูกเลิกจ้างก็สามารถร้องเรียนแบบไม่เปิดเผยชื่อ หรือรอให้ออกจากงานก่อนแล้วค่อยไปฟ้อง หรือร้องต่อพนักงานฯ แต่ทั้งนี้ต้องระวังเรื่องอายุความด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ