งานวิจัยสหรัฐฯ พบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำเสี่ยง "ตาบอด" เพิ่ม 2 เท่า
งานวิจัยสหรัฐฯ พบ "บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายกว่าที่คิด ทำเสี่ยง "ตาบอด" เพิ่ม 2 เท่า และยังเจอเคสเป็นมะเร็งตาในผู้ป่วยวัย 22 ปี
รู้ไหมว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" มีอันตรายกว่าที่คุณคิด ส่วนผสมในน้ำยา ทำให้น้ำตามีคุณภาพที่ไม่ดี เพิ่มโอกาสการเกิดต้อกระจก ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม เสี่ยง "ตาบอด" เพิ่มขึ้นเป็น 1.96 เท่าของคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า พบเคสผู้ป่วยวัย 22 ปีเป็น "มะเร็งตา"
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยจากวารสาร American Journal of Ophthalmology ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับความบกพร่องทางการมองเห็น
เป็นงานวิจัยของภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA โดยการศึกษานี้ใช้ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของสหรัฐอเมริกา (Behavioral Risk Factor Surveillance System: BRFSS) ในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ระหว่างปี 2559-2561 รวม 1,173,646 คน นำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะบกพร่องทางการมองเห็น (ตาบอดหรือมีปัญหาทางการมองเห็นอย่างรุนแรงแม้จะใช้แว่นตา)
โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ที่จะมีผลต่อภาวะบกพร่องทางการมองเห็น เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ ดัชนีมวลกาย ประวัติการดื่มสุรา สุขภาพจิต รวมทั้งการสูบบุหรี่ธรรมดา
ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะมีภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน พบคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องทางการมองเห็นเพิ่มขึ้นเป็น 1.96 เท่าของคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
และยังพบเคสผู้ป่วยอายุ 22 ปีในสหรัฐฯ มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่อง 5 ปี สูบเฉลี่ยอย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน โดยไม่มีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน ถูกวินิจฉัยว่าเป็น “มะเร็งตา” มาพบแพทย์ด้วยอาการตาพร่ามัว เดิมคิดว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น จนกระทั่งพบว่าเป็นมะเร็งตา ซึ่งโรคนี้พบไม่บ่อยโดยเฉพาะในคนอายุน้อย รายนี้แพทย์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะไม่พบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
คณะผู้วิจัยได้สันนิษฐานถึงสาเหตุของการที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูญเสียการมองเห็นไว้ 3 สาเหตุ คือ
- เกิดจากสารโพเพอรีน ไกลคอลที่เป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายชั้นไขมันของน้ำตา (tear film) ทำให้น้ำตามีคุณภาพที่ไม่ดี ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นของดวงตาได้ นำมาสู่อาการอักเสบ ตาแห้ง ระคายเคือง
- การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับระบบต้านออกซิเดชั่นในร่างกาย ซึ่งพบว่าเพิ่มโอกาสการเกิดต้อกระจก ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม
- ผลของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงดวงตาและเส้นประสาทตาลดลง เพิ่มความเสี่ยงของต้อหิน