เด่นโซเชียล

"แตงโม นิดา" พลัดตกเรือ ทำ ดร.ธรณ์ ขอแนะวิธีเอาชีวิตรอด มีสิ่งนี้ยิ่งปลอดภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"แตงโม นิดา" พลัดตกเรือ ทำ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ขอแนะวิธีเอาชีวิตรอด แม้แม่น้ำอันตรายหากพลาดพลั้ง ย้ำยิ่งมีสิ่งนี้ยิ่งปลอดภัย

 

"แตงโม นิดา"  นักแสดงชื่อดังที่ตอนนี้เหล่าชาวเน็ตต่างร่วมส่งกำลังใจให้เธออย่างล้นหลาม สืบเนื่องจากเมื่อกลางดึกของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เธอนั้นได้พลัดตกเรือสปีดโบ๊ตจมหายกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงสะพานพระราม 7 ซึ่งตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เร่งตามหาร่างของเธอตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ และทำให้ล่าสุดทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ได้ยกเคสอุบัติเหตุดังกล่าวมาเป็นแนวทางความรู้ ถ้าหากประสบเหตุแบบนี้จะสามารถเอาชีวิตรอดอย่างไรได้บ้าง

 

 

 

 

โดยจากเคส "แตงโม นิดา" นี้ทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า ทราบข่าวคุณแตงโมตกเรือ จึงอยากเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนธรณ์ เผื่อว่าจะมีประโยชน์ครับ

 

แม่น้ำกับทะเล คนมักกลัวจมทะเลมากกว่า เพราะทะเลกว้าง ฝั่งอยู่ไกล ฯลฯ แต่แม่น้ำอันตรายหากพลาดพลั้ง เพราะน้ำแรง น้ำขุ่น มีสวะ/ผักตบมากมาย น้ำจืดยังตัวจมง่ายกว่าน้ำเค็ม (เกลือทำให้น้ำเค็มหนาแน่นมากกว่า) การระวังตัวดีสุดคือชูชีพ หากใส่อยู่ ยังไงก็ลอย และลอยในแม่น้ำแป๊บเดียวก็มีคนเจอหรือเข้าไปใกล้ตลิ่ง ไม่เหมือนในทะเลที่บางทีอาจลอยนาน ๆ จนกว่าจะมีความช่วยเหลือ

 

เมื่อใส่ชูชีพตกแม่น้ำมีโอกาสปลอดภัยสูง ขอเพียงคุมสติ อย่าตกใจ ว่ายน้ำไม่เป็นก็ไม่ต้องตกใจ เมื่อใส่เสื้อชูชีพแล้ว ไม่ต้องกลัวจมครับ การว่ายน้ำท่าปรกติอาจยาก เพราะเสื้อชูชีพทั่วไปออกแบบให้พยุงให้หน้าพ้นน้ำ นอนหงาย ให้ใช้แขนแบบเวลาว่ายกรรเชียงเป็นหลัก ขาเหยียดออกไปเอาไว้เผื่อถีบสิ่งกีดขวาง แขนสองข้างคอยกวาดน้ำประคองตัวและทิศทาง (คอมเมนต์เพิ่มเติมจากเพื่อนธรณ์ครับ ) ด้วยเหตุนี้ ว่ายน้ำไม่เป็นก็ทำได้ ค่อย ๆ ลอยไปครับ ที่สำคัญ อย่าพยายามว่ายสวนน้ำ ให้ว่ายตามน้ำเบนเข้าหาตลิ่งใกล้ที่สุด ระหว่างนั้น สังเกตเรือรอบด้าน ตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่ออยู่ใกล้ (ชูชีพที่มีนกหวีดติดจะดีมาก)

 

 

 

 

เน้นย้ำเรื่องนกหวีด มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะตอนกลางคืน มองไม่เห็นแต่ได้ยินเสียงไปไกลกว่า เป่าแบบให้ไม่เป็นปรกติ คนได้ยินจะได้เอะใจ ลอยตัวว่ายเฉียงตามน้ำเข้าฝั่ง หรือหากว่ายน้ำไม่เป็น/ไม่แข็ง ให้ลอยไปก่อน ยังไงก็คงผ่านเรือหรือลอยเข้าใกล้ตลิ่งที่มีคนอยู่ ในกรณีที่เข้าใกล้สะพาน น้ำจะหมุนวน/เชี่ยว ต้องระวังให้ดี การเกาะคอสะพานต้านน้ำในช่วงน้ำแรง อาจยิ่งอันตราย ปล่อยตัวผ่านไปอาจปลอดภัยกว่า ค่อยไปหาตลิ่งหลังสะพานขึ้น

 

หากเจอสวะ/ผักตบลอยมา พยายามหลีกเลี่ยงเพราะอาจพันตัวเราหรือพาเราพุ่งไปชนกับสิ่งกีดขวาง โดยที่เราติดอยู่หลีกเลี่ยงยาก การลดอาการตกใจ/สติแตก อาจทำได้โดยดูก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน ใกล้ฝั่งไหนมากกว่ากัน มองไปปลายน้ำ ดูเป้าหมายริมตลิ่งที่เราคิดว่าจะไป เป้าหมายไม่ใช่จุดที่ใกล้สุด ต้องเป็นปลายน้ำเท่านั้น มองเฉียงลงไป เอาเป็นเป้าใหญ่ไว้ก่อน

 

ท่าเรือ/โป๊ะยื่นออกมากลางแม่น้ำ เป็นเป้าดีสุด มีเป้าหมายจะทำให้เราไม่ขาดสติ ค่อย ๆ ว่ายเฉียงตามน้ำไปหาเป้าหมาย หากรู้สึกว่าทำไม่ได้แน่ ไม่ต้องตกใจ มองเป้าต่อไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นดูเรือระหว่างทาง หากเข้าใกล้อาจเป่านกหวีด/ตะโกน หากเจอเรืออยู่ใกล้แต่สวนน้ำ ต้องดูให้ดีว่าจะว่ายไปไหม เพราะว่ายสวนในแม่น้ำพร้อมใส่ชูชีพแทบเป็นไปไม่ได้

 

หากเข้าใกล้เรือ กำลังลอยผ่านไป ตะโกนแล้วไม่มีใครได้ยิน ไม่ต้องตกใจหรือพยายามว่ายสวนน้ำเข้าไปเกาะเรือโดยคนบนเรือไม่รู้ตัว จะอันตรายมาก เรือมีมาเรื่อย ๆ ในแม่น้ำไม่ใช่ในทะเล สุดท้าย เสื้อชูชีพสีสด แม่น้ำแคบ คนคงเห็นในเวลาไม่นาน ยิ่งมีนกหวีดยิ่งปลอดภัย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เน้นว่าทั้งหมดที่เขียนมาคือกรณีใส่ชูชีพ เป็นกำลังใจให้ครอบครัวคุณแตงโมครับ

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Thon Thamrongnawasawat 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ