"ยื่นภาษี 2564" ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เหตุผลการเก็บ วิธีกรอกยื่นภาษี ที่นี่
"ยื่นภาษี 2564" เจาะภาษีคริปโตเคอร์เรนซี Cryptocurrency เหตุผลที่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษี ไม่จ่ายได้ไหม กรมสรรพากรจะรู้หรือเปล่า แล้วถ้าจะยื่นแบบ วิธีการกรอกออนไลน์ทำอย่างไร
"ยื่นภาษี 2564" ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อ้างอิง พระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งระบุรายละเอียดในเนื้อหาว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตฯ จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ได้หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ
โดยที่ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษี แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บ ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เงินได้จาก คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน
ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจําเป็นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ฮือฮารับ ปีใหม่ 2565 ของเหล่านักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หลังกรมสรรพากรให้ผู้ที่มีกำไรจากการลงทุนต้อง "ยื่นภาษี 2564" เสียภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เงินได้ให้ถูกต้อง แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 แล้ว หากขายได้กำไร สุดท้ายก็ยังต้องมายื่นภาษีประจำปีอีก
วิธีกรอกแบบการยื่นภาษี ดังนี้
- กรณีการยื่นแบบภาษีออนไลน์ เข้าไปที่เว็บไซต์ E-FILING : https://efiling.rd.go.th/ : คลิกที่นี่ กดยื่นแบบออนไลน์ : คลิกที่นี่ ล็อกอินแล้วทำตามขั้นตอน
- ในหน้า กรอกเงินได้ จะมีหัวข้อ รายได้จากการลงทุน "ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด ๆ จาก คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน (มาตรา 40(4)) คลิก ระบุข้อมูล
- กรอกเป็นรายการ ประเภทธุรกิจ (ประเภทของเงินได้) เงินได้ทั้งหมด ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เลขผู้จ่ายเงินได้
"การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้ง คริปโตเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล โดยปกติว่าหากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) จัดอยู่ในหมวดของการลงทุนแบบเดียวกับ ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษี" นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลพร้อมระบุว่า ถ้าเข้าไปดูแบบ ก็จะมีรายละเอียดในคำอธิบายแต่ละข้อว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งก็จะมีอยู่หนึ่งข้อ คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนและ คริปโตเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล ที่ได้กำไร โดยเรื่องนี้เป็นกฎหมายอยู่แล้วว่าถ้ามีกำไรจากการขาย ก็ต้องมีหน้าที่นำมารวมคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่น ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วมีไปเทรดคริปโตฯ ตรงนี้นอกจากเงินเดือน เราก็ต้องเอาตัวนี้มาใส่ที่ มาตรา 40(4)
"หากผู้ที่มีกำไรจากเทรดดังกล่าวและไม่ยื่นภาษีนั้น กรมสรรพากรมีข้อมูลอยู่แล้ว สามารถตรวจสอบได้ ต้องดูความผิดปกติของแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับสรรพากรในแต่ละพื้นที่ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างไร" โฆษกกรมสรรพากร ระบุเพิ่มเติม ที่ผ่านมาการยื่นภาษี มาตรา 40(4) มีรายละเอียดย่อยค่อนข้างมาก ประชาชนอาจยังไม่ทราบทั้งหมดว่าต้องยื่นรายได้ในส่วนนี้ พอมีข่าวออกมาอาจจะทำให้เกิดความตื่นตัว ซึ่งทางกรมสรรพากรพยายามประชาสัมพันธ์ให้ทราบ เพื่อให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่ต้องมีภาระย้อนหลัง หากถูกตรวจสอบว่าไม่ได้ยื่น