เด่นโซเชียล

ประกัน "โควิด" ปรับเกณฑ์ไม่จ่ายชดเชย Home Isolation เริ่ม 15 ก.พ. 65 นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประกัน "โควิด" ทำวุ่นทั้งลูกค้าและตัวแทน หลังมีการปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยตามเกณฑ์ผู้ป่วยใน แต่ไม่จ่ายชดเชย Home Isolation เริ่ม 15 ก.พ. 65 นี้

 

ประกัน "โควิด" งานนี้ทำวุ่นกันทั้งลูกค้าและตัวแทนกันเลยทีเดียว หลังมีข่าวออกมาว่าสมาคมประกันชีวิตไทย แจงข้อปฏิบัติสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ของบริษัทประกันชีวิต โดยจะมีการปรับการเคลมประกันโควิดใหม่ โดยจะจ่ายชดเชยตามเกณฑ์ผู้ป่วยใน แต่ไม่จ่ายชดเชยสำหรับ Home Isolation เริ่ม 15 กุมภาพันธ์ 2565 นี้

 

 

 

 

ประกัน "โควิด" ใครที่ทำประกันโควิด-19 ไว้ต้องแอบกังวลใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หลังมีข่าวออกมาว่าจะมีการปรับการเคลมประกันโควิดใหม่ ไม่จ่ายชดเชยสำหรับ Home Isolation สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ชาวเน็ตต่างแห่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการประกันชีวิต ที่ได้มีการระบุข้อความไว้ว่า

 

งานเข้า ป่วยเป็นโควิดต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จึงจะเบิกค่ารักษาได้ แหล่งข่าวจากวงการประกันชีวิตแจ้งว่า สมาคมประกันชีวิตไทย ได้ออกแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองการประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ของบริษัทประกันชีวิต โดยมีเนื้อหาโดยย่อว่า จากนี้ไปบริษัทประกันชีวิตจะให้การชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้เอาประกันที่ป่วยเป็นโควิด ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

 

วานนี้ เริ่มมีผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตบางแห่ง ได้ออกมาแจ้งให้ตัวแทนประกันชีวิตได้รับทราบว่า บริษัทกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลโรคโควิดในเร็ว ๆ นี้ แหล่งข่าวยังแจ้งต่อว่า การที่บริษัทประกันชีวิต ได้เปลี่ยนแนวปฏิบัติ การให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดครั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565

 

 

 

 

ซึ่งประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ส่วนผู้ป่วยที่จะเข้ารักษาเป็น ผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลนั้น จะต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่

3. Oxygen Saturation < 94%

4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์

5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

 

โดยสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ยกเหตุผลว่า ในระยะเวลาอันใกล้ การติดเชื้อไวโควิด-19 จะกลายสภาพเป็นเหมือน โรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระบวนการดูแลรักษาจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในอีกต่อไป และผู้เข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ดังนั้น การรักษาใน Hospitel เป็นเพียงการแยกกักตัว (isolation) ซึ่งไม่ควรถือว่าเป็นการเข้าพักรักษาตัวในรพ. (admit) ตามนิยามเดิม

 

สมาคมจึงขอให้บริษัทประกันชีวิตที่เป็นสมาชิก ได้เตรียมความพร้อมในการสื่อสารภายในบริษัทและโรงพยาบาลคู่สัญญา เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรักษาพยาบาลแบบ ผู้ป่วยใน และสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเซยรายได้จากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ถ้ามี) ให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว โดยจะเริ่มใช้แนวปฏิบัตินี้พร้อมกันทั้งธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

 

สรุปคือ ผู้เอาประกันภัยที่ป่วยเป็นโรคโควิด จะเบิกค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยรายได้จากการนอนโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทลได้นั้น ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อ ข้างต้นเท่านั้น ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ต้องใช้วิธีกักตัวที่บ้านเอง (home isolation) ซึ่งจะเบิกค่ารักษาจากบริษัทไม่ได้

ตัวแทนประกันชีวิตจึงต้องเร่งทำความเข้าใจ และชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจในเงื่อนไขก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาในรพ.หรือฮอสพิเทลต่อไป

หมายเหตุ : ถ้าโรงพยาบาลยังรับเข้าแอดมิททั้งที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ผู้เอาประกันอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : บรรยง วิทยวีรศักดิ์ 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ