เด่นโซเชียล

ฮือฮาใช้ "คางคก" ถู ๆ บริเวณตะขาบกัด ช่วยถอนพิษ เช็คก่อนทำตามเสี่ยงผิวเน่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แชร์สนั่นใช้ "คางคก" ถู ๆ บริเวณตะขาบกัดหวังช่วยถอนพิษ เบรคด่วนเช็คข้อมูลก่อนทำตามระวังแผลติดเชื้อหนักกว่าเดิม เสี่ยงผิวไหม้-ผิวเน่า

Anti-Fake News Center Thailand  โพสต์ข้อความโดยระบุ ว่า  ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นใช้ "คางคก" ถูบริเวณที่ตะขาบกัดจะช่วยดูดพิษออกได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

จากที่มีข้อความแนะนำทางสื่อออนไลน์ที่กล่าวว่าหากโดนตะขาบกัดให้นำ "คางคก" มาทาที่แผล ซึ่งจะช่วยดูดพิษของตะขาบออกไปได้ ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้ชี้แจงว่าเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง การนำคางคกมารักษาโดยการถูบริเวณแผลนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังติดเชื้อได้มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพิษของตะขาบจะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และจะมีอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยหลังโดนตะขาบกัด คือ อาการปวด บวม แดง หรือมีเหงื่อออกเฉพาะที่  นอกจากนี้อาจมีเลือดออกในบริเวณที่ถูกกัดได้ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถูกตะขาบกัดมักเกิดอาการชา ซึ่งเป็นผลที่มาจากพิษของตะขาบ หากไม่ได้รับการดูแลแผลที่ดี อาจจะลุกลามจนเกิดเป็นแผลลึก หรือมีการติดเชื้อตามมาได้ 

อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก การถูกตะขาบกัดอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อสลาย หรือไตวาย เป็นต้น

 

ทั้งนี้ การนำ "คางคก" หรือสิ่งแปลกปลอมมาถูหรือพอกบริเวณที่ถูกตะขาบกัดนั้น จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้มากขึ้น หากมีความผิดปกติหรืออาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นหลังถูกตะขาบกัด ขอแนะนำว่าให้ท่านรีบไปพบแพทย์ในทันที


สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังถูกตะขาบกัด ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดก่อน หลังจากนั้นให้ทำตามวิธีต่อไปนี้ 

 

1.ประคบด้วยน้ำแข็ง หรือแช่บริเวณที่ถูกกัดในน้ำอุ่นเพื่อลดอาการปวด 
2. ใช้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานหรือสเปรย์ลดอาการปวด 
3. รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม antihistamines 
4. ผู้ที่ถูกตะขาบกัดควรได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก 
5.รับประทานยาฆ่าเชื้อหากพบว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์  www.iod.go.th  หรือโทร. 02-354-5222

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง การนำคางคกหรือสิ่งแปลกปลอมมาถูหรือพอกบริเวณที่ถูกตะขาบกัดนั้น จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้มากขึ้น หากมีความผิดปกติหรืออาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นหลังถูกตะขาบกัด ขอแนะนำว่าให้ท่านรีบไปพบแพทย์ในทันที

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

ฮือฮาใช้ "คางคก" ถู ๆ บริเวณตะขาบกัด ช่วยถอนพิษ เช็คก่อนทำตามเสี่ยงผิวเน่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ