เด่นโซเชียล

ควรรู้ "วัคซีน" ไฟเซอร์ เด็ก 5 - 11 ขวบ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง อย. อนุมัติ ฉีดไหม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย. อนุมัติ "วัคซีน" ไฟเซอร์ กลุ่มเด็กเล็ก 5 - 11 ขวบ ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง เป็นอย่างไรบ้าง ผู้ปกครองควรรู้ก่อนตัดสินใจฉีดดีไหม

 

"วัคซีน" เด็ก จำเป็นต้องฉีดมั้ย ในสถานการณ์ล่าสุดที่น่ากังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ โควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ Omicron (โอไมครอน หรือ โอมิครอน) โดยที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า วัคซีน โควิด-19 เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะลดความเสี่ยงเมื่อติดเชื้อแล้วมีอาการหนัก หรือลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ก็ฉีดครบ 2 เข็ม และเตรียมกระตุ้นเข็ม 3 กันแล้ว ทว่ากลุ่มเด็ก อายุ 5 - 11 ขวบ ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย เพราะจำเป็นต้องศึกษาความเสี่ยงและความคุ้มค่าให้ละเอียดก่อน

 

 

 

 

กระทั่ง ปรากฏผลการศึกษาออกมา และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงในหลาย ๆ ประเทศ ได้อนุมัติให้ฉีด "วัคซีน" โควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์ ในเด็กอายุ 5 - 11 ขวบ เป็นกรณีฉุกเฉิน ตามด้วย อย. ไทย ที่ไฟเขียวด้วยเช่นกัน

 

  • ชื่อวัคซีน : โคเมอร์เนตี (ฝาสีส้ม) COMIRNATY VACCINE คนละขวดกับของผู้ใหญ่ (ฝาสีม่วง)
  • ชนิดวัคซีน : mRNA
  • บริษัทผู้ผลิต : บริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับบริษัท ไบออนเทค (BioNTech) ประเทศเยอรมนี
  • ปริมาณที่ฉีด : ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ปริมาณ mRNA 10 ไมโครกรัม หรือเท่ากับปริมาตรวัคซีน 0.2 มิลลิลิตร คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่ฉีดในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป (ลดปริมาณลงจากขนาดที่ฉีดในผู้ใหญ่)
  • จำนวนเข็มและระยะห่าง : 3 - 12 สัปดาห์ หลังจากการฉีดเข็มแรก (ในประเทศไทยแนะนำ 8 สัปดาห์)
  • การเก็บรักษา : เก็บรักษาในอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส ได้ 10 สัปดาห์ และเก็บในตู้แช่แข็งอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส ได้ 6 เดือน
  • ประสิทธิภาพ : 

 

  1. ป้องกันอาการป่วย โควิด-19 ได้ 90.7% ในเด็กอายุ 5 - 11 ขวบ
  2. ลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงป่วยหนัก
  3. ลดความเสี่ยงโรค MIS-C และลดอาการ Long Covid ที่เกิดขึ้นจากการติดโควิด

 

 

ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5 - 11 ขวบ (จากการศึกษาของต่างประเทศ)

 

อาการหลังฉีดเข็มที่ 1

 

  • อ่อนเพลีย 34%
  • ปวดศีรษะ 22% 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 9%
  • ท้องเสีย 6%
  • หนาวสั่น 5%
  • มีไข้ 3%
  • ปวดข้อ 3%
  • อาเจียน 2%

 

 

อาการหลังฉีดเข็มที่ 2

 

  • อ่อนเพลีย 39%
  • ปวดศีรษะ 28% 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 12%
  • หนาวสั่น 10%
  • มีไข้ 7%
  • ท้องเสีย 5%
  • ปวดข้อ 5%
  • อาเจียน 2%

 

 

ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5 - 11 ขวบ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 - 5 มกราคม 2565 เป็นจำนวน 8,674,378 โดส พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 12 ราย เป็นเพศหญิง 4 ราย เพศชาย 8 ราย แต่ทุกเคสมีอาการไม่รุนแรง หายเป็นปกติ

 

 

 

 

คำแนะนำ "วัคซีน" จาก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่น ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 โดยสรุปดังนี้

 

  • แนะนำให้เด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม แถบส้ม) ขนาด 10 ไมโครกรัม เข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง แต่ละเข็มห่างกัน 3 - 12 สัปดาห์ (21 - 84 วัน) โดยระยะห่าง 8 - 12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3 - 4 สัปดาห์ เพราะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า
  • สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ที่เคยติด โควิด-19 มาแล้ว ควรฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก 1 เข็ม หลังหายจาก โควิด-19 แล้วอย่างน้อย 3 เดือน
  • สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ ถึงไม่เกิน 12 ปี ที่ฉีดวัคซีนสูตรเด็กเข็มที่ 1 ไปแล้ว และมีอายุครบ 12 ปี หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับผู้ใหญ่และวัยรุ่น (ขนาด 30 ไมโครกรัม) อย่างไรก็ตาม หากได้รับเข็มที่ 2 เป็นขนาด 10 ไมโครกรัมไปแล้ว ก็ถือว่าได้รับวัคซีนครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องฉีดสูตรผู้ใหญ่ซ้ำ

 

 

  • สำหรับผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป ที่เคยฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม ครบแล้ว 2 เข็ม แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองตามช่วงอายุอีก 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ภายหลังการฉีดเข็มที่ 2
  • เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตหากติด โควิด-19 จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ทุกราย
  • เด็กปกติที่มีสุขภาพดี ผู้ปกครองมีสิทธิที่จะรับวัคซีนหรือปฏิเสธก็ได้ โดยมีการรับทราบถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีน

 

 

 

 

ข้อมูล : cdc.govfda.gov

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ