เด่นโซเชียล

"โอไมครอน" ติดง่ายแค่ไหน น่ากลัว อาการรุนแรง หรือไม่ เช็ค 10 ข้อ ไม่มองข้าม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โอไมครอน" ติดง่ายแค่ไหน เช็ค 10 ข้อต้องรู้ อาการน่ากังวล น่ากลัว รุนแรง หรือไม่ 3 คำถาม - คำตอบ ตรงประเด็นโดย หมอยง ครบจบที่นี่

 

เกาะติด "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron (โอมิครอน) โควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับสถานการณ์ โควิด-19 ให้เป็นระดับ 4 จากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงแบบก้าวกระโดด โดยการกลายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนโปรตีนหนามแหลม หรือที่เรียกว่า Spike Protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ ซึ่งพบมากกว่าทุกสายพันธุ์ และมากกว่าสายพันธุ์เดลตา ถึง 2 เท่า และพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่ง แล้ว โอไมครอนติดง่ายแค่ไหน

 

 

 

 

  • ทำให้เชื่อกันว่า "โอไมครอน" จะสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา
  • สามารถเข้าสู่ระบบร่างกายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น
  • อาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
  • มีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีน
  • คนที่เคยติดเชื้อ โควิด-19 มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้จากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
  • ความรุนแรงของโควิดกลายพันธุ์ตัวนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้การเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่

 

 


แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยข้อมูลอาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron (โอมิครอน) ในประเทศไทย ที่มีอาการ 41 ราย โดย 8 อาการที่พบมากที่สุด คือ

 

  1. อาการไอ 54%
  2. เจ็บคอ 37%
  3. มีไข้ 29%
  4. ปวดกล้ามเนื้อ 15%
  5. มีน้ำมูก 12%
  6. ปวดศีรษะ 10%
  7. หายใจลำบาก 5%
  8. ได้กลิ่นลดลงมีเพียง 2%

 

 

นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จากข้อมูลที่รวบรวมทั้งต่างประเทศ และในประเทศ ขณะนี้ เบื้องต้น อาการไม่แตกต่างจากอาการ โควิด-19

 

  • ส่วนใหญ่มีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ มีไข้ เจ็บคอ และไอแห้ง ๆ
  • เกือบทุกประเทศรายงานตรงกันว่า ความรุนแรงไม่มากเท่าเดลตา
  • หลายประเทศบอกว่า รุนแรงน้อยกว่าเดลตาพอสมควร
  • พบบางรายมีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่มากนัก
  • สำหรับการรักษาในประเทศไทย ให้ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ภายใน 3 วัน (24 - 72 ชั่วโมง) พบว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติ

 

 

 

 

10 ข้อต้องรู้ "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron (โอมิครอน)

 

  1. เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับน่ากังวล (Variants of concern: VOC) มีรหัสไวรัสเป็น B.1.1.529 พบครั้งแรกที่ แอฟริกาใต้ มีการระบาดลามไปในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
  2. ผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในขั้นต้นมักจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไอ , เจ็บคอ , มีไข้ , ปวดกล้ามเนื้อ , มีน้ำมูก , ปวดศีรษะ , หายใจลำบาก , ได้กลิ่นลดลง
  3. ข้อมูลอัปเดตอาการใหม่ของโอไมครอนที่สามารถพบได้เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ เหนื่อย , อ่อนเพลีย , ไอแห้ง และเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
  4. โอไมครอนสามารถกลายพันธุ์ได้ถึง 50 ตำแหน่ง สามารถติดเชื้อไวรัสโควิดซ้ำได้ ไวรัสจะยึดกับเซลล์ของคนได้มากกว่า 10 จุด และยังสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดี
  5. หากเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้ว เสี่ยงต่อการติดสายพันธุ์โอไมครอนได้โดยง่าย ควรระวังตนเองให้มาก
  6. โอไมครอนสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจและหลอดลมได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า แต่หากแพร่กระจายถึงขั้นลงปอด จะไม่ทำลายปอดเท่ากับเดลตา เพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มักอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน
  7. สายพันธุ์โอไมครอน แม้ว่าจะติดง่าย และพบการเสียชีวิตน้อย แต่อาจเกิดภาวะของคนที่หายจาก โควิด-19 (Long COVID) ตามหลังมาได้ โดยระบบการหายใจ หรือระบบอื่น ๆ ของร่างกายอาจเปลี่ยนไปจากเดิม หรืออาจมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงในระยะยาว
  8. หากได้รับวัคซีนชนิด mRNA 3 เข็มติดกัน (เช่น โมเดอร์นา หรือ ไฟเซอร์) จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโอไมครอนได้ถึง 60 - 70%
  9. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง จำนวน 3 ชั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันโอไมครอนได้
  10. ไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ใน 24 - 72 ชั่วโมง

 

 

ทั้งนี้ หมอยง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Yong Poovorawan 3 คำถาม - คำตอบ น่ารู้ ดังนี้

 

  • การติดต่อง่ายจริงหรือ

 

  1. ง่ายครับ สมัยระบาดระลอกแรกสายพันธุ์อู่ฮั่น มีผู้ติดเชื้อ 1 คน นั่งกินเหล้าเฉลิมฉลองด้วยกัน 7 คน จะมีคนติดเชื้อไป 1 - 2 คน
  2. พอมาสายพันธุ์เดลตา นั่งกินเหล้ากัน 10 คน จะติดเชื้อไป 6 - 7 คน
  3. สายพันธุ์โอไมครอน ตัวอย่างที่เห็น นั่งเฉลิมฉลองกัน 11 คน มี 1 คน กลับจากฝรั่งเศส ติดเชื้อไปครบทั้ง 10 คนเลย เป็นการพิสูจน์การติดง่ายแน่นอน

 

  • หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีน

 

  1. ข้อมูลชัดเจนแล้วว่า ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่ว่ายี่ห้ออะไร ไม่มีวัคซีนเทพแน่นอน ติดเชื้อกันได้ถ้วนหน้า
  2. จำเป็นจะต้องอาศัยเข็ม 3 ในการยกระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น เพื่อใช้ในการต่อสู้
  3. ผู้ที่ได้ 3 เข็มมานานแล้ว ภูมิต้านทานจะตกลงตามกาลเวลา เมื่อภูมิต้านทานตกลง ก็จะติดเชื้อได้
  4. รวมทั้งผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน มีภูมิต้านทานทั้ง 2 ระบบ T และ B cells อย่างดี ก็ยังติดเชื้อซ้ำได้ แน่นอนผู้ที่มีภูมิต้านทานอยู่แล้ว อาการของโรคก็จะน้อยลง

 

  • ความรุนแรงของโรค

 

  1. ข้อมูลที่ออกมาเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น การติดเชื้อโอไมครอน ความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา
  2. จากการศึกษาในแอฟริกาใต้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องเข้านอนโรงพยาบาล น้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้านอนโรงพยาบาลแล้วการดำเนินโรคไปจนถึงความรุนแรงไม่แตกต่างกันกับสายพันธุ์เดลตา
  3. การศึกษาในอังกฤษ ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ต้องนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน โอกาสที่จะต้องนอนโรงพยาบาลลดลงไปอีก น้อยกว่าครึ่งที่ตรงเข้านอนโรงพยาบาล
  4. การศึกษาในสกอตแลนด์ ก็เช่นเดียวกัน โอไมครอน โอกาสที่จะต้องนอนโรงพยาบาลลดลงไป 2 ใน 3 ส่วนมากจะมีผลจากภูมิต้านทานจากวัคซีนเดิมหรือติดเชื้อ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง

 

 

 

logoline